เข้มข้นขึ้นทุกขณะสำหรับโครงการ “สร้าง สรรค์ ฉลาดคิด ผลิตข่าวกับพานาโซนิค ประจำปี 2560” ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับประถมและมัธยมศึกษา อายุระหว่าง 10-18 ปี แสดงความสามารถในการผลิตคลิปวิดีโอสร้างสรรค์ที่สะท้อนประเด็นต่างๆ ทางสังคมผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่

โดยตั้งแต่เปิดรับสมัครมีเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากถึง 82 ทีม คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทีมที่มีผลงานโดดเด่น 16 ทีม เข้าค่ายพัฒนาผลงาน (Workshop) ก่อนนำความรู้ที่ได้ไปผลิตชิ้นงานสำหรับการแข่งขันในรอบที่ 2 ต่อไป

ศิริรัตน์ ยงค์เจริญชัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พานาโซนิค แมเนจเม้นท์ (ประเทศ ไทย) จำกัด กล่าวว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ต้องนำเสนอภายใต้แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การสื่อสาร หรือกีฬา ซึ่งน้องๆ จะถ่ายทอดออกมาในรูปแบบใดก็ได้ ผู้ชนะการแข่งขันในระดับประเทศจะได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปแสดงศักยภาพในเวทีระดับนานาชาติต่อไป

บรรยากาศกิจกรรมตลอดทั้ง 3 วัน เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เด็กๆ จากต่างโรงเรียนได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ พร้อมเรียนรู้ทักษะต่างๆ ในการผลิตคลิปวิดีโอ เริ่มตั้งแต่การคิดประเด็นเพื่อสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การเล่าเรื่องให้น่าสนใจ รวมไปถึงเทคนิคการใช้กล้อง

โดยนอกจากจะได้ความรู้ด้านทฤษฎีจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิเทศศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ ในแวดวงสื่อสารมวลชนแล้ว ยังไปศึกษาดูงานกระบวนการถ่ายทำรายการข่าวที่ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 รวมถึงทดลองใช้กล้อง Panasonic Lumix G Series ซึ่งถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ในการสร้างสรรค์ ผลงานจริง

ผศ.ดร.ลักษณา คล้ายแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในคณะกรรมการที่มาให้ความรู้เยาวชน แนะนำว่าการทำสื่อไม่ว่าประเภทใดก็ตามต้องคิดพิจารณาด้วยว่าในเรื่องราวนั้นๆ เราจะหยิบแง่มุมใดมาเล่า และจะถ่ายทอดอย่างไรให้น่าสนใจ จุดหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างจังหวะในการเล่าเรื่อง เทคนิคคือต้องมีจุดเริ่มต้นที่ดึงดูดความสนใจ ระหว่างทางต้องเห็นพัฒนาการของเรื่องราว ที่สำคัญคือจะจบเรื่องอย่างไรให้คนดูจับใจและจดจำ

ด้าน ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับฯชื่อดัง เผยเคล็ดลับว่า นักเล่าเรื่องที่ดีไม่ได้อยู่ที่สาระของเรื่องที่เล่า แต่นักเล่าเรื่องที่ดีคือคนที่ทำให้คนดูรู้สึก “สนุก” ไม่ว่าเรื่องนั้นจะมีสาระหรือไม่ บางเรื่องมีสาระมากแต่เล่าไม่สนุก คนก็ไม่สนใจ ทำให้การสื่อสารไม่ได้ผล คำว่าสนุกในที่นี้ไม่ได้หมายความแค่เสียงหัวเราะเท่านั้น แต่ความสนุกคือ “ทุกอารมณ์” หนังที่สนุกคือหนังที่ทำให้คนดูเกิดอารมณ์คล้อยตาม ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องตื่นเต้น ตลก หรือแม้กระทั่งเรื่องเศร้า

อีกหนึ่งผู้กำกับฯมากฝีมือ ตั้ม พัฒนะ จิรวงศ์ เล่าถึงผลงานที่ส่งเข้าประกวดในแต่ละปีว่าพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องเทคนิคการถ่ายภาพ อย่างไรก็ตามการเล่าเรื่องยังติดอยู่กับกรอบเดิมๆ มากเกินไป จึงอยากแนะนำให้น้องๆ ลองค้นหาข้อมูลจากช่องทาง อื่นๆ นอกเหนือจากอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นข่าวเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลจริง ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้หนังมีอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้น

ฟังเสียงสะท้อนจากเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ น้องไกด์ ด.ช.โภคิน ตุลาประพฤทธิ์ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เล่าว่า สมัครเข้าร่วมโครงการเพราะอยากเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตสื่อ และต้องการท้าทายความสามารถของตัวเอง จะได้รู้ว่าฝีมือตัวเองอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ อยากบอกเพื่อนๆ ที่สนใจงานด้านนี้แต่ยังไม่มีความกล้าว่า อย่ากลัวที่จะเริ่มลงมือทำ และเมื่อทำแล้วก็ต้อง พยายาม อย่าท้อแท้ ทุกอย่างมีอุปสรรคอยู่แล้ว แต่ถ้าเราพยายาม ก็จะผ่านมันไปได้

ด้านเยาวชนรุ่นเล็ก น้องกร ด.ช.ภูวเดช วุฒิจักร นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เล่าว่ากิจกรรมเวิร์กช็อปทำให้ได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการถ่ายภาพ เช่น เทคนิคการถ่ายภาพย้อนแสง ทำให้ได้ภาพสวยงามแปลกตา หรือเทคนิคการถ่ายภาพขาว-ดำ ผลงานที่จะส่งเข้าประกวดในรอบต่อไปตั้งใจจะทำวิดีโอรณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้ โดยถ่ายทอดในรูปแบบการรายงานข่าว

เห็นความพยายามและตั้งใจของน้องๆ ขนาดนี้ ร่วมติดตามกันต่อไปว่าเด็กๆ จะถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาออกมาได้น่าสนใจเพียงใด และใครจะได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปแสดงศักยภาพในเวทีโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน