เป็นแม่ไม่ง่าย – “เราเล่นเกมด้วยกัน และใช้เวลาอื่นๆร่วมกัน ทำให้ไม่มีปัญหาติดเกม”

เรามาเข้าใจเรื่องเกม โดยเฉพาะเกมออนไลน์มากขึ้นก็ตอนที่เรากับสามีเล่นเกมนี่แหละ

เรากับสามีตกลงกันว่าเราจะไม่ให้ลูกจับมือถือเลยก่อนสามขวบ หลังสามขวบจะให้ลูกเรียนรู้ การใช้งานมือถือ การเล่นเกมพวกเกมทางการศึกษาหรือฝึกทักษะ อะไรประมาณนี้ แล้วเราสองคนก็ทำกันได้


เรากับสามีมีงานประจำกันทั้งคู่ เราฝากเนอสเซอรี่ตั้งแต่ลูกสองขวบ ก่อนหน้านี้เราเลี้ยงลูกเองตั้งแต่ลูกเกิด เราลาออกจากงานประจำที่ทำมาสิบปี สามีหารายได้คนเดียว เราเตรียมการทั้งหมดตั้งแต่แต่งงานแล้ว พอเอาลูกไปฝากเขาเลี้ยง เราก็กลับเข้าทำงานประจำอีกครั้ง ก็เพื่อแบ่งเบาภาระสามีและเตรียมการเงินทองไว้สำหรับอนาคต

ถามว่าเราทำได้ไง ตอบว่ากลับบ้านเราก็ให้เวลากับลูก เล่นกับเขา คุยกับเขา เหมือนตอนเริ่มอนุญาตให้เขาได้จับมือถือนั่นแหละ เพราะเราเห็นว่าอนาคตของเด็กรุ่นต่อไป มันต้องมีสมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็จริง อย่างเราๆ ท่านๆ เห็นกันอยู่ ยิ่งช่วงโควิด-19 เห็นชัดเลย

ทุกวันนี้ลูกชายเราอายุ 10 ขวบแล้ว เขาเล่นเกมออนไลน์ต่างๆ ตั้งแต่ตอนที่เราอนุญาต ก็ผ่านมาแล้วเจ็ดปี อย่างที่บอกแรกๆ ก็เล่นเกมทางการศึกษา เกมทักษะการใช้ชีวิต เกมฝึกภาษาต่างๆ ลูกเราก็สนุกดี แล้วเขาก็เริ่มเลือกเกมเล่นเองตอนราวๆ ห้าขวบ เขาเริ่มเล่นเกมแนวต่อสู้ เขามาขออนุญาตเรา เราก็ดูว่าเกมพวกนั้นมีความรุนแรงระดับไหน เขาคุยกับสามี สามีบอกว่าหนทางเดียวที่จะรู้จริง คือเล่นด้วย

แรกๆ เราก็เล่นด้วย เกมพวกนี้หลายๆ เกมมีฟังก์ชั่นปิดไม่ให้เห็นเป็นเลือดพุ่ง เลือดกระจายเมื่อเกิดการปะทะ การสูญเสีย เราเล่นไปก็สอนลูกไปว่านี่คือเกม แต่สามีบอกว่าลูกคงเข้าใจไม่ได้ลึกซึ้ง ถ้าเขาไม่เจอกับตัว เราคิดนะ แต่จะให้ทำยังไง ตอนนั้นเรายังนึกไม่ออก ได้แต่คิดว่าต้องอยู่ร่วมกับลูกใหเมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

วันหนึ่งตอนเขาอายุ 5 ขวบ ลูกถูกมีดปอกผลไม้บาดนิ้ว ตอนเราทำครัว เขาหยิบมีดแล้วลูบที่คม ปรากฏว่ามันก็ต้องบาดมือแน่นอน เขาร้อง บอกว่าเจ็บ เราจึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกตอบว่า เห็นในเกมเขาเอานิ้วลูบแบบนี้ เราถามว่าแล้วไง ลูกตอบว่า เจ็บแล้วเลือดก็ไหล

เราได้โอกาสสอนลูกว่า ในชีวิตจริงมันไม่เหมือนเกม เกมนั่นเหมือนการ์ตูน ทำแล้วไม่เจ็บ เพราะเขาเน้นไปที่ความสนุก แต่ความจริงคือเจ็บแล้วเลือดไหล


ลูกเราเรียนรู้ชีวิตส่วนหนึ่งก็จากเกม จากการ์ตูน แอมมิเนชั่นที่เขาดู อย่างการล้างมือ การทำความสะอาดร่างกาย การซื้อของ ปรากฏว่าเขาจำได้ว้าต้องทำยังไงมาจากแอพในมือถือ เขาอธิบายขั้นตอนและทำถูกต้อง อย่างการล้างมือ ไม่ใช่จากโรงเรียนแต่กลับมาจากมือถือที่เราอนุญาตให้เล่น

นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ และสั้น เกี่ยวกับอิทธิพลเกมออนไลน์ต่างๆ ที่ใช้ให้ถูกทาง

เกมออนไลน์ที่ส่วนใหญ่ทุกเกม ต้องเติมเงินซื้อไอเทมในเกม เราก็อนุญาตให้ลูกซื้อได้ โดยที่เขาต้องมาขออนุญาตเราก่อน แม้ทุกวันนี้เขาอายุสิบขวบแล้วก็เถอะ เราผูกบัญชีเกมกับบัญชีที่เราอนุญาต สามีเรากับเราก็ลงไปเล่นด้วย แม้จะไม่เล่นมาก แต่เราก็เข้าใจเกมต่างๆ ที่ลูกเล่น

เกมออนไลน์ทุกวันนี้มีการแชท การคุยกันผ่านเกมได้ ทั้งการพิมพ์การเปิดไมโครโฟนคุยกันตรงๆ มันก็เป็นดาบสองคม ตอนแรกเราไม่อนุญาตให้ลูกเปิดไมค์เล่นเกม ลูกจะได้ยินได้ฟังเสียงในเกมแต่ไม่ใช่เสียงคนพูดกันผ่านไมโครโฟน คนเล่นเกมส่วนใหญ่มักเป็นเด็กหรือวัยรุ่น สำนวนภาษาที่ใช้ แน่นอน วัยรุ่นต้องการการปลดปล่อยและการยอมรับ คำหยาบคายจึงมักออกจากพวกเขาอย่างเลี่ยงไม่พ้น บางครั้งที่ลูกลืมปิดไมค์แล้วได้ยินคำหยาบ เราก็บอกกับลูกตรงๆ ว่าคำนี้ไม่ควรพูด สำนวนหรือวิธีการอย่างนี้เป็นมารยาทที่ไม่ดี ไม่ควรทำ แม้แต่กับคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก เล่นเกมเพียงครั้งสองครั้งแล้วก็ไม่เจอกันอีกก็ตาม ก็ไม่ควรทำ

ต่อมาเราก็อนุญาตให้ลูกเปิดไมโครโฟนเล่นเกมได้ในบางครั้ง ตอนเขาอายุ 7 ขวบ เรานั่งอยู่ด้วย จำได้เลย ครั้งแรกๆ เขาเล่นกับพี่วัยรุ่นคนหนึ่ง เมื่อลูกเราพูดสุภาพ ครับๆ ผมๆ ขอบคุณครับ พี่วัยรุ่นคนนั้นก็พูดสุภาพกลับ แล้วก็เล่นกันอีกหลายหน ทุกครั้งที่พี่คนนั้นออนไลน์ก็มักจะทักเข้ามาแล้วชวนเล่มเกมด้วย ซึ่งเราก็โอกาสสอนลูกว่า เห็นไหม ถ้าเราพูดดีๆ พูดเพราะกับใคร ใครเขาก็ชอบ แต่เราก็ยังระวังอยู่นะ เราได้ยินแต่เสียง ไม่เห็นหน้า แล้วลูกเราก็ยังเล็กมาก เราสอนลูกว่า คุยได้แต่อย่าเปิดเผยเรื่องส่วนตัว เรียนที่โรงเรียนไหน บ้านอยู่แถวไหน ถ้าคุยเริ่มคุยอย่างนี้ก็อย่าตอบ ถ้าเขาพูดแต่เรื่องพวกนี้ หรือชักชวนไปทำเรื่องไม่ได้ หรือพูดไม่สุภาพ เลี่ยงได้ก็เลี่ยง ถอนตัวไม่คุยได้ก็ทำเลย


ทุกวันนี้ลูกเราก็ยังเล่นเกม แต่เขาไม่ได้ติดเลย เขาคุยกับเพื่อนที่โรงเรียนเดียวกันเรื่องเกมที่เล่น คุยกันผ่านเกมเวลาเล่น ได้ยินลูกคุยเรื่องเรียน เรื่องการบ้านผ่านการแชทผ่านเกมเป็นประจำด้วยซ้ำ โลกของเด็กรุ่นนี้เขามีสิ่งเหล่านี้เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารทางหนึ่งไปแล้ว ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ต้องเข้าใจและยอมรับว่านี่คือวิธีการดำเนินชีวิตของพวกเขา

เราหมายถึงโลกออนไลน์ ชีวิตของคนรุ่นเขาที่คืออนาคตของประเทศ #

 

ขึ้นหนึ่งค่ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน