ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี เยาวชนคนหนุ่มสาวจะเฝ้ารอข่าวสารสำคัญจากโครงการหนึ่งซึ่งจะทำให้พวกเขา มีโอกาสออกเดินทางไปเรียนรู้โลกเป็นเวลากว่า 50 วัน

โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ หรือ The Ship for Southeast Asian and Japanese Youth Program เป็นโครงการที่ได้รับ ความสนใจจากเยาวชนในประเทศญี่ปุ่นและอาเซียนมายาวนาน ทุกปีจะมีเยาวชนอายุ 18-30 ปี สมัครเข้าร่วมโครงการเป็น จำนวนมาก

โครงการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1974 (พ.ศ.2517) หรือ 44 ปีที่แล้ว จากความ ร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้เยาวชนญี่ปุ่น 40 คน กับเยาวชนอาเซียน 290 คน มีโอกาสสานไมตรีที่ดีต่อกันผ่านกิจกรรมหลากรูปแบบ เรียนรู้ความเหมือนและความต่างเพื่อนำไปสู่ปลายทางแห่งความเข้าใจ โดยมีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นแม่งานในโครงการนี้ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ เปิดรับสมัคร จัดสอบ อบรม และเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง

เยาวชนไทยที่เข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนประกอบด้วยตัวแทนจากส่วนกลางที่ผ่านเกณฑ์การสอบภาษาอังกฤษและตัวแทนจังหวัดที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการจังหวัดแต่ละจังหวัด ประเภทละ 14 คน ชาย 7 คน หญิง 7 คน โดยผู้ผ่านการคัดเลือกจากทั้ง 2 ประเภทจะต้องเข้าสอบสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่ง

“การสอบสัมภาษณ์มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กรรมการจะพิจารณาความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทดสอบความมั่นใจ ดูทัศนคติและมุมมองของเราต่อสถานการณ์ต่างๆ ในภูมิภาค” จีรวัฒน์ โหง่นมณี หนึ่งในคณะเยาวชนโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ประจำปี 2560 เล่าให้ฟัง

คณะเยาวชนไทย 28 คน พร้อมทั้งหัวหน้าคณะเยาวชนอีก 1 คน จะเดินทางไปทำหน้าที่ทูตวัฒนธรรมให้ประเทศไทยเป็นเวลา 52 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-13 ธ.ค. 2560 ในสัปดาห์แรกเยาวชนจากอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะพักอยู่กับครอบครัวชาวญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ก่อนจะลงเรือนิปปอนมารูร่วมกับเยาวชนอาเซียนและเยาวชนญี่ปุ่น ในวันที่ 2 พ.ย. 2560

ปีนี้เรือเยาวชนจะจอดเทียบท่าที่กัมพูชา ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อให้คณะเยาวชนเข้าเยี่ยมคารวะรัฐบาลของประเทศนั้นๆ พบปะเยาวชนท้องถิ่น เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมด้วยการพักกับครอบครัวของประเทศที่เรือจอดเทียบท่าเป็นเวลา 3-4 วัน ก่อนที่เรือจะผ่านน่านน้ำหรือเข้าจอดเทียบท่ายังประเทศใด กิจกรรมที่ถือเป็นไฮไลต์คือการแสดงทางวัฒนธรรม เพื่อแนะนำประเทศนั้นๆ เป็นเวลา 75 นาที

คณะเยาวชนไทยเตรียมการแสดงที่สะท้อนความ หลากหลายทางประเพณีวัฒนธรรมภายในประเทศ เช่น มวยไทย กลองยาว ผีตาโขน ฟ้อนที ระบำตารีบุหงา และมโนราห์ โดยเชื่อมร้อยความหลากหลายให้ออกมาเป็น การแสดงที่สะท้อนความเป็นหนึ่งเดียว

สิตตา มารัตนชัย หรือ ซินดี้ หนึ่งในเยาวชนที่ เข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนในปีนี้ เล่าถึงการแสดงทางวัฒนธรรมที่ต้องแสดงก่อนเรือจะมาเทียบท่าที่ประเทศไทยในระหว่างวันที่ 16-20 พ.ย. ความประทับใจคือทุกคนต้องทำงานร่วมกันแบบทีมเวิร์กจริงๆ เริ่มตั้งแต่คิดคอนเซ็ปต์ ออก แบบการแสดง ไปจนถึงการฝึกซ้อม สำหรับบางคนเขาต้องหัดใหม่เริ่มตั้งแต่ รำไม่เป็นจนพร้อมรำโชว์ในเรือเยาวชนได้

นอกจากการทำหน้าที่ทูตทางวัฒนธรรมระหว่างที่อยู่บนเรือ เยาวชนทั้ง 28 คน ยังต้องแยกย้ายกันเข้ากลุ่มอภิปรายทางวิชาการร่วมกับเพื่อนเยาวชนจากประเทศต่างๆ ตามหัวข้อที่กำหนด เช่น คุณภาพการศึกษา คนหนุ่มสาวกับการเป็นผู้ประกอบการ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผลดีผลเสียของโลกาภิวัตน์ ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร โดยนำข้อมูลที่ได้จาก ข้อเสนอของเยาวชนในหัวข้อต่างๆ กลับไปทำกิจกรรม เพื่อสังคมในประเทศและรายงานการทำกิจกรรมกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น

อมรรัตน์ ศรีฉ่ำ หัวหน้าคณะเยาวชนโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ประจำปี 2560 เล่าว่าหน้าที่หลักของหัวหน้าคณะเยาวชนคือ ต้องเตรียมตัวร่วมกับน้องๆ ให้คำปรึกษาแนะนำการ เตรียมตัวที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทั้งบนเรือและในประเทศที่เรือแวะเยือน อาทิ การแต่งกาย การแสดงทางวัฒนธรรม กิจกรรมอาสาสมัคร และการเตรียมข้อมูลสำหรับการอภิปรายทางวิชาการ

ตลอดระยะเวลา 4-5 เดือนในการเตรียมตัวเพื่อร่วมเดินทางไปกับเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ประจำปี 2560 คือโอกาสทองทางการเรียนรู้ของเยาวชนคนหนุ่มสาวทั้ง 28 คน ผ่านการทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน และนำประสบการณ์ที่ได้กลับมาพัฒนาและสร้างรัฐนาวาไทยให้สามารถอยู่ในน่านน้ำของโลกได้อย่างมั่นคงและแข็งแรงตลอดไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน