ที่มา G-jang เว็บไซต์ thaigamewiki.com

The Evil Within ภาคแรกนั้นวางจำหน่ายในปี 2014 โดยที่ในตอนนั้นเป็นที่ฮือฮาในหมู่เกมเมอร์ระดับหนึ่งเลยทีเดียว ด้วยความที่เป็นเกมสยองขวัญซีรีส์ใหม่ถอดด้ามจากบิดาของซีรีส์ Resident Evil อย่างคุณชินจิ มิคามิ ผู้ไปก่อตั้งสตูดิโออิสระในชื่อ Tango Gameworks และจัดจำหน่ายโดย Bethesda Softworks ผู้ที่มีซีรีส์ชื่อกระฉ่อนในมือมากมาย หากแต่ในคราวที่เกมวางจำหน่ายนั้น เสียงตอบรับกลับไม่ได้ดีเด่นอะไรมากนัก ด้วยปัญหาของตัวเกมในหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ภาพแบบ letterbox (มีแถบดำบนและล่างจอประหนึ่งกำลังดูภาพยนตร์) หรือระบบการเล็งที่ยังดูติดๆ ขัดๆ พร้อมกับเนื้อหาในเกมที่ชวนงุนงงแม้จะจบไปแล้วก็ยังทิ้งคำถามเอาไว้มากมาย จนไปเคลียร์ในหลายประเด็นใน DLC ทีหลัง ถึงอย่างนั้น สามปีผ่านไปกับเกมภาคใหม่นี้ จะมีอะไรแตกต่างจากเดิมบ้างรึเปล่า?


เนื้อเรื่อง

เกมภาคนี้ยังคงบอกเล่าเรื่องราวชีวิตอันแสนรันทดของเซบาสเตียน คาสติยาโนส ตำรวจสืบสวนแห่งสำนักงานตำรวจประจำเมืองคริมสันซิตี้ในภาคแรก หากแต่คราวนี้กาลเวลาผ่านไปสามปีนับแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลจิตเวชบีคอน แม้เขาจะรอดชีวิตมาได้แต่สิ่งที่เขาพบเจอมากลับทำให้เขาเกิดปัญหาชีวิตมากมายจนต้องออกจากงาน และได้แต่เมาหัวราน้ำไปวันๆ ทว่าวันหนึ่ง เขากลับได้พบกับจูลี่ คิดแมนที่มาตามตัวเขาไปเพื่อให้ดำดิ่งเข้าสู่โลกเสมือนของ STEM อีกครั้งด้วยข้อเสนอที่ว่าเซบาสเตียนจะได้พบกับลูกสาวที่เขาคิดว่าตายไปแล้วอีกครั้ง

หากจะพูดไปแล้ว ในภาคนี้ถือว่ามีการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างตรงไปตรงมากว่าภาคแรก อาจด้วยความที่ทั้งผู้เล่นและตัวละครในเกมนั้นรับรู้รับทราบกันดีแล้วว่า STEM คืออะไร และเซบาสเตียนก็มีเป้าหมายชัดเจนว่ากลับเข้ามาสู่โลกนี้อีกครั้งทำไม ต่างกับภาคแรกที่จะให้ความรู้สึกงุนงงสงสัยกับสิ่งที่หาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้เต็มไปหมด กว่าจะพอเข้าใจก็ตอนเกือบจบเกม แต่ถึงแบบนั้นก็ไม่ใช่ว่าเนื้อเรื่องในภาคนี้จะเป็นเส้นตรงจนไม่มีอะไรให้ติดตาม ยิ่งช่วงท้ายเกมนี่เรียกได้ว่าเนื้อหาแทบจะเป็นไคลแมกซ์ในทุกฉากเลยทีเดียว

ด้านตัวละครใหม่ของภาคนี้อย่างบรรดาบอสไม่ว่าจะเป็นสเตฟาโนหรือธีโอดอร์ก็ดูเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตอย่างสุดขั้วจนอดหวั่นใจไม่ได้ว่าถ้าตัวละครเหล่านี้เป็นคนจริงๆ แล้วจะเป็นอันตรายกับสังคมขนาดไหน ถึงแม้ว่าโดยส่วนตัวแล้วตัวร้ายในภาคแรกอย่างรูวิคจะยังดูมีเสน่ห์มากกว่าก็ตาม แต่นั่นก็เพราะเราได้รับรู้อดีตของรูวิคตลอดทั้งเกมจนเข้าใจปมและที่มาที่ไป ในขณะที่สเตฟาโนและธีโอดอร์นั้นจะมีการบอกเล่าอดีตผ่านเอกสารหรือเป็นการบอกเล่าอย่างกระชับด้วยปากของบุคคลที่สาม จึงทำให้การซึมซับเป็นไปอย่างรวบรัดมากกว่ารูวิคพอควร

กระนั้น เนื้อหาของเกมภาคนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย ในทางกลับกันภาคนี้สามารถเคลียร์ปมหลายอย่างได้ค่อนข้างครบถ้วนและหมดจดเสียด้วยซ้ำ (ส่วนที่ยังไม่เคลียร์ ก็คงไปลุ้นว่าจะมี DLC รึเปล่ากันแทน)


การนำเสนอ

ด้วยความที่ภาคนี้ทีมงานตัดสินใจขยายพื้นที่ของฉากให้กว้างออกไปจากเดิม ในภาคแรกนั้นผู้เล่นจะได้อยู่แค่ในพื้นที่ปิดของโรงพยาบาล แต่ในภาคนี้จะได้ออกสำรวจในเมืองจำลองที่ชื่อ Union ด้วย แม้ว่าตัวเมืองจะดูเป็นเมืองชนบทในอเมริกาอันเงียบสงบ แต่ทุกมุมเมืองกลับแฝงไว้ด้วยเหล่าผีร้ายกระหายเลือดที่พร้อมจะแล่เนื้อเถือหนังคุณ ความเงียบสงบจึงกลายเป็นความวังเวงไปแทน ถ้าจะเรียกว่าการเดินในเมืองนั้นใกล้เคียงกับการเล่น Silent Hill ก็คงไม่ผิดอะไรนัก แน่นอนว่าเมื่อตัวเกมนำเสนอฉากในเมืองให้เราได้เดินเล่นกันเช่นนี้ การให้เมืองว่างเปล่าไม่มีอะไรให้ทำก็คงไม่ดีแน่ ตัวเกมจึงใส่บรรดาภารกิจรองจำนวนพอสมควรให้ผู้เล่นได้ค้นหา และโดยมากเมื่อเคลียร์ภารกิจรองก็มักจะได้อาวุธหรือของดีๆ เป็นรางวัลตอบแทน หรือบางภารกิจรองก็จะเป็นการเปิดระบบที่จะทำให้เราต้องเจอกับผีร้ายที่คอยรังควานแทบตลอดทั้งเกมเช่นกัน ถ้าคุณจินตนาการไม่ออก ลองนึกถึง Nemesis จาก Resident Evil 3 ที่มีลักษณะเป็นภูติผีแต่คุณยิงสู้มันไม่ได้และต้องหลบอย่างเดียวเอาไว้ก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก

เมืองนี้กฎแห่งแรงโน้มถ่วงดูจะใช้ไม่ค่อยได้เท่าไหร่ (แน่สิ)

ต้องเป็นคนแบบไหนที่ชอบมีสายตาจ้องมองตลอดเวลา

ในส่วนของกราฟิกนั้นเมื่อเทียบกับภาคแรกแล้วเห็นได้ชัดว่าพัฒนาขึ้น ทั้งโมเดลตัวละครและการแสดงสีหน้าท่าทาง แต่สิ่งที่ต้องชมเชยคือการกำกับภาพและการลำดับภาพที่เล่นมุมกล้องได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเพื่อสร้างความหวาดผวาให้คนเล่น หรือการตัดสลับภาพไปมาระหว่างสองเหตุการณ์ที่ดำเนินขนานกันไปก็ทำออกมาได้ดีและชวนให้ระทึกได้ทั้งนั้น


ระบบการเล่น

ตัวเกมยังคงระบบการเล่นคล้ายภาคแรกที่ทรัพยากรต่างๆ เช่น กระสุนหรือยาเติมพลัง ยังคงมีจำกัด ด้วยเหตุนี้ผู้เล่นจึงต้องพยายามลอบเร้นและสังหารศัตรูมากกว่าจะปะทะตรงๆ โดยในส่วนของระบบลอบเร้นก็ทำออกมาได้ครบถ้วนพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวแนบกับวัตถุ การซ่อนตัวในพุ่มไม้ หรือแม้แต่ A.I. ศัตรูที่จะตอบสนองเมื่อได้ยินเสียงดังต่างๆ เป็นต้น และอาวุธที่มีให้ใช้ก็เป็นอาวุธมาตรฐานตามสไตล์เกมสยองขวัญเอาตัวรอด ไม่ว่าจะเป็นปืนพกอันเป็นอาวุธเบสิค ปืนลูกซองที่เหมาะใช้ระยะประชิดและใช้ตอนโดนรุมล้อมได้ดี ปืนสไนเปอร์ไรเฟิลที่เหมาะเวลาไม่ต้องการเอาตัวเข้าไปเสี่ยง รวมถึงหน้าไม้กับลูกดอกสารพัดชนิดที่มีให้เลือกใช้ตามสถานการณ์โดยไม่มีชนิดไหนที่ไร้ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นอาวุธบางชนิดยังมีให้เก็บหลายกระบอกที่จะมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เช่น ปืนพกติดกระบอกเก็บเสียงที่พลังโจมตีจะต่ำกว่าปกติแต่จะไม่ทำให้ศัตรูรู้ตัว หรือปืนรีวอลเวอร์ที่จะแรงกว่าปืนพกชนิดอื่น เป็นต้น

บุฟเฟต์แบบนี้จะไปรบกวนก็ดูจะเสียมารยาทไปหน่อย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าทรัพยากรต่างๆ นั้นจำกัด แต่ในภาคนี้ก็ได้เพิ่มระบบการ craft กระสุนและยาเติมพลังเข้ามา จากเดิมภาคแรกเราจะสามารถใช้ trap parts สร้างได้เพียงลูกดอกแต่ละประเภทเท่านั้น ในภาคนี้เราสามารถใช้ทรัพยากรหลายชนิดในการสร้างกระสุนและยาเติมพลังได้แล้ว ซึ่งกระสุนแต่ละประเภทก็จะใช้ทรัพยากรต่างกัน ที่สะดวกคือผู้เล่นสามารถสร้างไอเท็มในตอนไหนก็ได้ แต่การสร้างไอเท็มที่ workbench จะช่วยประหยัดทรัพยากรที่ต้องใช้ไปได้มากเลยทีเดียว

ไอเท็มที่สามารถสร้างได้นั้นมีมากมายพอสมควร

ระบบการอัพเกรดตัวละครและอาวุธยังคงมีอยู่เช่นเดิม หากแต่เดิมในภาคแรกที่อะไรๆ ล้วนใช้แต่เจลเขียวในการอัพนั้น มาภาคนี้แยกชัดเจนระหว่างการอัพความสามารถตัวละครที่จะใช้เจลเขียว ส่วนการอัพอาวุธจะใช้พาร์ทอาวุธแทน ซึ่งหัวข้อการอัพเกรดก็แบ่งสายได้ชัดเจนและไม่มีสกิลใดที่จะอัพแล้วไร้ประโยชน์แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้พลังชีวิตยาวขึ้น เพิ่มค่าพลังความอึดให้วิ่งได้นานขึ้น หรือแม้แต่สกิลใหม่เช่นการลอบสังหารในตอนที่เราหลบมุม เป็นต้น

เข้าเครื่องอบผมเสริมความมั่นใจกันบ้างอะไรบ้าง

ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ต้องติอยู่บ้างก็เป็นระบบการเล็งที่เป้าค่อนข้างแกว่งและ hitbox ที่ออกจะแปลกในบางครั้ง หากเราประชิดตัวศัตรูมากเกินไปและกดเล็งปืนยิง บางทีกระสุนก็ไม่โดนตัวศัตรู และระบบโจมตีประชิดที่ยังไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ เรียกได้ว่าถ้าจังหวะชุลมุนและกดโจมตีประชิดก็ยังมีโอกาสที่มุมกล้องจะทำให้เรามองไม่เห็นศัตรูจนฟาดวืดทำเราเสียจังหวะไปได้บ้างเหมือนกัน ระบบโจมตีประชิดอาจเรียกได้ว่าควรใช้เป็นที่พึ่งสุดท้ายจริงๆ เท่านั้น

ในด้านของความยาวเกมนั้น หากว่าคุณเป็นคนที่เล่นสายสำรวจอะไรอย่างละเอียดแล้ว การเล่นในรอบแรกอาจใช้เวลาถึง 23 ชั่วโมงขึ้นไปเลยทีเดียว ด้วยความที่ตัวเกมในภาคนี้มีพื้นที่ให้สำรวจมากมายทำให้การเล่นไม่เป็นเส้นตรงแบบในภาคแรก ไหนจะบรรดา collectibles ต่างๆ ที่มีให้เก็บไม่ว่าจะเป็นกุญแจล็อคเกอร์หรือไฟล์ต่างๆ ที่มีให้อ่านเนื้อเรื่องเบื้องหลังในเกม อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางค่อนไปทางท้ายเกมนั้น ตัวเกมเลือกที่จะใช้วิธีการนำเสนอคล้ายภาคแรก นั่นคือดำเนินเรื่องเป็นทางตรงแบบไม่มีพื้นที่ให้ได้ออกนอกเส้นทางไปสำรวจเท่าช่วงครึ่งแรก แต่ก็ชดเชยด้วยการใส่ฉากไคลแมกซ์เข้ามาอย่างต่อเนื่องแทน ยิ่งถ้าใครเล่นภาคแรกมาแล้วจะต้องรู้สึกว่าเหตุการณ์ในช่วงท้ายเกมนั้นเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมาก

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่ต้องชมเชยสำหรับภาคนี้ก็คือบรรดากับดักทีเดียวตายนั้นลดน้อยลงไปจากเดิมมากกว่าภาคแรก ช่วยให้ลดความหงุดหงิดขณะเล่นไปได้มากเลยทีเดียว


เสียงประกอบ

เพลงประกอบในเกมนี้เป็นสิ่งที่ทำมาได้ดีทีเดียว แต่ละช่วงแต่ละฉากล้วนแต่เป็นเพลงที่ให้ความรู้สึกลึกลับ วังเวง น่าขนลุก ให้ความรู้สึกที่ว่ามีอะไรพร้อมจะกระโจนใส่เราตลอดเวลา และสำหรับเวอร์ชัน PlayStation 4 นี้ มีการใช้งานลำโพงจอยได้อย่างน่าชื่นชม กับการกำหนดให้เสียงเอฟเฟคต์ในขณะเผชิญหน้ากับศัตรูบางชนิดออกมาจากลำโพงจอยแทนที่จะออกจากทีวีตามปกติ ช่วยให้รู้สึกเสมือนเสียงดังกล่าวอยู่ใกล้หูเรามากกว่าเสียงอื่นๆ


สรุป

The Evil Within 2 ถือเป็นเกมสยองขวัญภาคต่อที่ทำออกมาได้ดีกว่าภาคแรกในแทบทุกด้าน แม้ว่าบางอย่างอาจจะยังต้องปรับปรุง แต่โดยรวมแล้วเป็นเกมคุณภาพดีที่ควรหามาเล่น หากว่าคุณชอบซีรีส์ Resident Evil ชอบ Silent Hill ชอบเกมภาคแรกหรือชื่นชอบเกมแนวนี้เป็นทุนเดิม คุณจะเล่นได้ไม่ผิดหวังแน่นอน และถ้าใครเล่นภาคแรกแล้วไม่ชอบใจ ภาคนี้ก็ถือเป็นการแก้ตัวของทีมงานที่ทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว

คะแนน 4.5 ⁄ 5

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน