ตื่นตาเกาะลิบง ‘เต่าตนุ’วางไข่

ทรงวุฒิ นาคพล

แจ้งข่าวดีต่อเนื่องสำหรับการอนุรักษ์เต่าตนุ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง

โดย นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง แจ้งว่าช่วงเวลา 02.30 น. วันที่ 20 ม.ค. เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ฝ่ายเฝ้าระวังไข่เต่าตนุ จำนวน 81 ฟอง ที่พบเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ปีนี้ บริเวณอ่าวหมาดำ หมู่ 5 บ้านหลังเขา ต.เกาะลิบง พบแม่เต่าตนุกลับมาทำรัง และวางไข่ครั้งหนึ่ง

เจ้าหน้าที่มีโอกาสสัมผัสนาทีที่แม่เต่ากำลังวางไข่อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งถ่ายภาพเหตุการณ์ขณะที่แม่เต่ากำลังขุดทราย และวางไข่สำเร็จ โดยไม่มีทีท่าหรืออาการตื่นตกใจแต่อย่างใด

นายอเนก เจะเหลา เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่เห็นเหตุการณ์ เล่าว่าเวลาประมาณเที่ยงคืนขณะที่ออกลาดตระเวนกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เดินอยู่ริมหาดเรื่อยๆ ก่อนจะมาพบรอยเต่า จึงเดินตามรอย และพบกับแม่เต่าที่กำลังขุดหลุมทรายเพื่อทำรังวางไข่ ใช้เวลาขุดหลุมทราย 1 ชั่วโมงกว่า และเดินมาขุดอีกหลุมหนึ่ง ห่างจากหลุมแรก 20 เมตร ใช้เวลาในการขุด 30 นาที จากนั้นหยุดพักสักพักหนึ่งก่อนจะวางไข่

แม่เต่าวางไข่ช่วงตีสองครึ่ง

“แม่เต่าใช้เวลาวางไข่ประมาณ 30 นาที เมื่อวางไข่สำเร็จ ขุดหลุมกลบไข่ และพักบนฝั่ง 30 นาที ก่อนจะลงน้ำทะเลไป ตอนนั้นพวกผมเฝ้าดูอยู่ เต่าไม่มีทีท่าที่จะตกใจกลัว หรือหลบหนีไป เพราะโดยสัญชาตญาณแล้วหากแม่เต่าขึ้นมาบนฝั่งเพื่อที่จะฟักไข่นั้น จะไม่มีทางกลับลงไปในน้ำจนกว่าจะวางไข่ได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเกิดอะไรรอบตัวก็ตาม เปรียบเหมือนคนที่กำลังจะคลอดลูก ต้องคลอดลูกทันที ผมเป็นคนที่นี่ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอเต่ามาวางไข่แบบนี้ ดีใจมาก ถือเป็นบุญตา” นายอเนกกล่าว

ขณะที่ นายสุชาติ เจะเหลา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ร่วมเล่าว่าแม่เต่าใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ขุดทรายวางไข่อยู่ตลอดเวลาโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่ว่าจะมีคนหรืออะไรเคลื่อนไหวก็ตาม เพราะแม่เต่าต้องการที่จะวางไข่อย่างเดียว โดยขุดหลุมลึกประมาณ 1 เมตร ก่อนจะปล่อยน้ำเชื้อออกมาพร้อมกับไข่ ทีละชั้นๆ เรื่อยๆ ครั้งละ 2-3 ฟอง รวมมากกว่า 100 ฟอง คิดว่าตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่มาวางไข่ในรอบแรก มาวางไข่ห่างจากที่เดิม 120 เมตร

แม่เต่าไม่ตื่นกลัวคน มุ่งทำรังวางไข่ เมื่อ 20 ม.ค.

สำหรับการพบไข่เต่าตนุ 81 ฟอง (แตกเสียหาย 1 ฟอง) เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564 เจ้าหน้าที่จัดเวรยามเฝ้า 24 ช.ม. พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อป้องกันภัยคุกคาม หลังจากช่วงเดือนธ.ค.2563 มีบทเรียนที่พบไข่มาแล้ว แต่ตะกวดแอบมากินไปก่อนไข่ฟักเป็นตัว

นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ (คนกลาง)

“ผู้อำนวยการสำนักที่ 5 นครศรีธรรมราช ให้แนวทางว่าจะต้องดูแลไข่เต่าให้เป็นอย่างดี ต้องจัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง ช่วง 60 วันเป็นอย่างน้อย ติดตั้งกล้องเพื่อดูความเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันภัยคุกคาม เช่น ตะกวด หรืองู มดแมลงต่างๆ ที่จะมาเขี่ยไข่เต่า เราจะพยายามดูแลอย่างดีที่สุด วันนี้เรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของเราค่อนข้างจะดีมาก เหมือนกับเป็นหัวใจเดียวกัน ทุกคนมีใจเดียวกันในการที่จะดูแลทรัพยากรที่สำคัญของเราไว้ โดยเฉพาะเรื่องของเก่าพะยูน ป่าไม้ หญ้าทะเล” นายชัยพฤกษ์กล่าว

หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวด้วยว่าดีใจแทนพี่น้องในพื้นที่ หลังจากร่วมกันดูแลทรัพยากรเป็นอย่างดี บ่งบอกถึงความร่วมมือของประชาชนกับส่วนราชการ จะเห็นได้ว่าในทะเลตอนนี้พบเต่าเยอะมาก พะยูนก็เพิ่มขึ้น ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรฟื้นฟูเพิ่มขึ้น ตอกย้ำว่าเมื่อพื้นที่ตรงไหนมีความอุดมสมบูรณ์ มีความสงบ สัตว์ป่าสัตว์ทะเลก็อยากมาออกลูกออกหลานให้สืบทอดไปให้มากที่สุด

ชีวิตน้อยๆ

“เต่าตนุ” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chelonia mydas เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีน้ำหนักมากเมื่อโตเต็มที่ ตั้งแต่หัวจรดหางยาวเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร น้ำหนักราว 130 กิโลกรัม หัวป้อมสั้น ปากสั้น เกล็ดเรียงต่อกันโดยไม่ซ้อนกัน กระดองหลังโค้งนูนเล็กน้อย บริเวณกลางหลังเป็นแนวนูนเกือบเป็นสัน ท้องแบนราบขาทั้งสี่แบนเป็นใบพาย ขาคู่หลังมีขนาดเล็กกว่าขาคู่หน้ามาก ขาคู่หน้ามีเล็บแหลมเพียงข้างละชิ้น

เจ้าหน้าที่ชาวบ้านช่วยกันนับไข่เต่าที่พบเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564

สีของกระดองมีสีน้ำตาลแดง หรือน้ำตาลอมเขียว ขอบเกล็ดมีสีอ่อนๆ เป็นรอยด่างและมีลายเป็นเส้นกระจายออกจากจุดสีแดงปนน้ำตาล คล้ายกับแสงของพระอาทิตย์ที่ลอดออกจากเมฆ จึงมีชื่อเรียกเต่าชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “เต่าแสงอาทิตย์” ส่วนชาวตะวันตกเรียกว่า “เต่าเขียว” จากกระดองเหลือบสีเขียว

พวกมันกินทั้งพืชและสัตว์ แต่จะกินพืชเป็นหลัก จำพวกหญ้าทะเล หรือสาหร่ายทะเล โตเต็มที่ตอนอายุ 4-7 ปี เชื่อกันว่าอายุยืนถึง 80 ปี อาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง หรือตามเกาะต่างๆ กระจายพันธุ์ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก ในน่านน้ำไทยพบทั้งที่อ่าวไทย และทะเลอันดามัน

เมื่อเต่าโตเต็มที่แล้วจะว่ายน้ำหากินไปเรื่อยๆ แต่จะกลับมาวางไข่บนชายหาดที่ถือกำเนิด ฤดูวางไข่ตกอยู่ในราวเดือนมิ.ย.-ก.ย.ในบริเวณอ่าวไทย และอยู่ในราวเดือนก.ย.ถึงก.พ.ในฝั่งทะเลอันดามัน จำนวนไข่ ต่อครั้ง 70-150 ฟอง

///

ชมคลิป : เต่าตนุวางไข่ที่เกาะลิบง .ตรัง นับจำนวนด้วยความตื่นเต้น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน