น้าชาติ ประชาชื่น [email protected]

น้าชาติคะ อยากทราบถึงพระ บรมมหาราชวัง และภายในมีส่วนประกอบอย่างไร ขอรายละเอียดค่ะ

รุ้งมณี

ตอบ รุ้งมณี

พระบรมมหาราชวัง หรือพระราชวังพระนคร เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ ย้อนไปครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีของสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศและเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์

การก่อสร้างพระราชวังหลวงเริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อ พ.ศ.2325 สร้างขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่ของพระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนทั้งหลาย โดยโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนเจ้าของที่ดินเหล่านั้นย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้ม จนถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง การก่อสร้างเริ่มดำเนินการในวันที่ 6 เมษายน หลังพระราชพิธียกเสาหลักเมือง 1 วัน และมีการเฉลิมพระราชมนเทียรในวันที่ 13 มิถุนายน ปีเดียวกัน แต่ขณะนั้นพระราชมนเทียรสร้างด้วยเครื่องไม้และสร้างเสาระเนียดรายรอบพระราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก

ต่อมาใน พ.ศ.2326 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมนเทียร พระมหาปราสาท เปลี่ยนเสาระเนียดจากเครื่องไม้เป็นก่อกำแพงอิฐ สร้างประตูรายรอบพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนสร้างพระอารามในพระราชวังหลวง คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เมื่อสร้างพระราชนิเวศน์มนเทียรเป็นการถาวรแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนราชประเพณีอีกครั้งใน พ.ศ.2328

พระบรมมหาราชวังมีการก่อสร้างเพิ่มเติมขยายอาณาเขตและบูรณปฏิสังขรณ์มาในทุกรัชกาล และในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชอนุชา ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบัญญัติให้เรียกพระราชวังหลวงว่า พระบรมมหาราชวัง นั่นคือ ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า “บรม” สำหรับฝ่ายวังหลวง และ “บวร” สำหรับฝ่ายวังหน้า พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า จึงเรียกว่า “พระบวรราชวัง” เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว พระราชวังหลวงก็ยังคงใช้ว่า พระบรมมหาราชวัง มาจนกระทั่งปัจจุบัน

หลังจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างราชธานีแห่งใหม่แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังไว้ด้วย ที่ตรงบริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบันนี้แต่เดิมเป็นชุมชนชาวจีน ทรงให้ชาวจีนเหล่านี้อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บริเวณที่เรียกกันว่าสำเพ็งทุกวันนี้

ปัจจุบันพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีอาณาเขตติดต่อกับสถานที่สำคัญเรียงตามเข็มนาฬิกาดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับท้องสนามหลวง, ทิศตะวันออก ติดกับกระทรวงกลาโหม, ทิศใต้ ติดกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร และทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา

พื้นที่ของพระบรมมหาราชวังในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เมื่อแรกสร้างมีเนื้อที่ทั้งหมด 132 ไร่ ต่อมาในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ขยายเขตพื้นที่ออกไปเป็น 152 ไร่ 2 งาน จนถึงปัจจุบัน

แผนผังของพระบรมมหาราชวังได้ยึดถือแบบของพระราชวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา คือสร้างติดกับแม่น้ำ หันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางทิศตะวันตก ให้กำแพงเมืองด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระอารามหลวงในพระราชวังตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก

ฉบับพรุ่งนี้ (31 ต.ค.) อ่านกันต่อถึงเขตพระราชฐานของพระบรมมหาราชวัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน