เป็นแม่ไม่ง่าย – “ครูบอกให้พาลูกไปพบจิตแพทย์เพราะลูกเรายกมือถามบ่อยเกินไป”

แรกเริ่มบ้านเราซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่วางแผนเกี่ยวกับลูกเอาไว้แล้วว่า จะมีสองคน และจะเลี้ยงแบบไหน เราอยากให้ลูกมีความสุขที่สุข เติบโต แข็งแรง มีพัฒนาการสมวัย ไม่อยากไปเร่งเรียนหรือเร่งทางวิชาการอะไรเพื่อแข่งกับใคร

เรามีลูกสองคนห่างกันสองปีพอดี โชคเราดีอยู่อย่างหนึ่งคือ ทั้งเราและสามีเป็นฟรีแลนซ์ทำงานที่บ้านทั้งคู่เลยทำให้มีเวลาอยู่ด้วยกันเต็มที่ ปัญหาแรกๆตั้งแต่ลูกคนแรกเกิดคือ เราแบ่งเวลาเลี้ยงลูกกับเวลาทำงานยากหน่อย ต้องสลับกัน แล้วงานฟรีแลนซ์ก็อย่างที่ทุกคนรู้ มันไม่มีความแน่นอน ไม่มีความสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นหากช่วงไหนมีงานอะไรเข้ามาเราก็ต้องรับหมด แล้วงานมักจะมาติดกันอัดๆแน่นๆ ส่วนช่วงไหนไม่มีงานก็ไม่มีจริงๆว่างยาวๆไปเลย ถ้าเราปฏิเสธงานไปสักครั้ง ครั้งต่อๆมาเขาก็อาจจะเห็นว่าขาดช่วง ไม่ติดต่อเราทำงานอีก ทำให้ช่วงเวลางานอัดๆนั่นต้องพยายามเลี้ยงลูกไปด้วยทำงานไปด้วยและแทบไม่ได้นอนเลย

ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยมากกก แม้ลูกจะห่างกันสองปี แต่การเลี้ยงทารกโดยที่คนโตก็ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ วุ่นวายพอสมควรเลย เราช่วยกันเลี้ยง ดูแล และสอนลูกเองในเรื่องต่างๆที่จะเป็น เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกดูจอ ทั้งจอทีวี จอมือถือ เพราะรู้ว่ามันอาจจะทำให้ลูกสมาธิสั้น พยายามร้องเพลง ชวนเต้น ชวนเล่น ให้ลูกได้วิ่งเล่นที่กว้างๆไกลๆ พาไปเที่ยวพื้นที่ที่มีธรรมชาติที่สวยงาม

ช่วงวัยที่ลูกคนอื่นเข้าเนอร์สเซอรี่ ก็มีหลายคนมาถามว่าทำไมไม่เอาลูกไปเข้า ไม่กลัวพัฒนาการช้าเหรอ แต่พอเขาเห็นลูกเราพูดเก่ง สดใส ร่าเริง คุยรู้เรื่อง ดูแลตัวเองดี เขาก็ไม่มาเซ้าซี้อีก จะมากันอีกทีตอนสี่ห้าขวบ คราวนี้เริ่มมากดดันแล้ว ว่าบ้านเราจะกักลูกอยู่บ้านไม่ให้เรียนหนังสือแบบนี้ไม่ผิดกฎหมายเหรอ เราก็ยิ้มๆ ตอบเขาไปว่า กฎหมายเขาบังคับว่าการศึกษาภาคบังคับต้องเริ่มตั้งแต่ ป. 1 หรือ 6-7 ขวบ ซึ่งตอนนั้นเด็กๆจะพร้อมเรียนรู้เรื่องวิชาการแล้ว ส่วนอนุบาลไม่ได้บังคับ ซึ่งถึงแม้ไม่บังคับลูกเราก็ได้เรียนเองในบ้าน ตัวอักษร จำนวน คำศัพท์ ต่างๆ และเรื่องราวรอบๆตัวจากนิทาน จากหนังสือ

ไม่ถึงกับโฮมสคูล เพราะแทบไม่เน้นเรียนอะไรเลย แต่ลูกสนุกภาพจิตดีมาก บรรยากาศการเรียนในครอบครัวเราคือเราจะไม่ค่อยห้ามลูกทำอะไร เราจะเปิดโอกาสให้ลูกได้พูด ได้ถาม ได้ตอบ และได้อธบายตามแบบที่เขาเข้าใจ อะไรที่เขายังไม่เข้าใจครบถ้วนเราก็สอนเพิ่ม อะไรที่เขาเข้าใจผิดเราก็ช่วยแก้ให้ และสอนแบบเปรียบเทียบกับตัวละครในการ์ตูนหรือนิยายที่เขาชอบ การสอนวิธีแบบนี้ทำให้ลูกสนุกมาก และจำเก่ง ถามเก่ง

พอลูกครบเกณฑ์เข้าเรียน ป. 1 ครูก็ยังชมลูกเราเลยว่า เก่งมา ไม่ร้องไห้เลย เพราะเราเตรียมความพร้อมมาหมดแล้ว ลูกเราเข้าใจดีว่ามาเรียนไม่นานถึงเวลาแม่ก็มารับกลับบ้าน ลูกเราเป็นเด็กที่ร่าเริงเพื่อนเลยรัก ชอบทำงานศิลปะมาก เขาตื่นเต้นมากเวลาวันไหนมีชั่วโมงศิลปะเขาจะกลับมาเล่าอวดว่าที่โรงเรียนสีเยอะมาก และเพื่อนๆวาดรูปอะไรกันบ้าง

ราบรื่นดีมาจน ป. 3 ซึ่งการเรียนเริ่มยากและซับซ้อนมากขึ้น คราวนี้ลูกมีการบ้านวันละเยอะ แต่ด้วยนิสัยที่ไม่ชอบให้อะไรติดค้าง เขาอยากมีเวลาอิสระที่บ้าน เลยมักจะทำการบ้านเสร็จมาแล้วตั้งแต่ที่โรงเรียน ดังนั้น เรามีหน้าที่แค่คอยตรวจดูจากสมุดจดการบ้านว่า ลูกเราทำการบ้านของทุกวิชาครบไหม และจัดกระเป๋านักเรียนไปส่งครูครบหรือเปล่า

ช่วงเวลานี้เองที่เริ่มมีปัญหา คือครูมาพบเราที่บ้าน ตามกำหนดเยี่ยมบ้าน แล้วขอเวลาคุยส่วนตัวกับเรา บอกว่า “ลูกชายคุณแม่อาจจะมีปัญหาพฤติกรรมที่ควรพบจิตแพทย์เด็กนะคะ” เราใจหายวาบเลย ก็ถามไปว่าเพราะอะไร เขาไปสร้างปัญหาอะไรหรือเปล่า ครูก็บอกว่า ลูกเรายกมือถามบ่อยมาก เกือบทุกวิชา ในขณะที่เด็กคนอื่นก็นั่งกันเฉยๆ ทีแรกได้ยินเราก็งงๆ

แต่ก็ยอมลองไปปรึกษานักพัฒนาการเด็กที่โรงพยาบาลดู ก็ได้พบจิตแพทย์ด้วย พอเราเข้าไปปรึกษา คุณหมอก็บอกว่าลูกเราเป็นเด็กที่ร่าเริงแจ่มใส พัฒนาการปกติ และดูจะมีไอคิวสูงด้วย เรื่องการยกมือถามบ่อยในห้องเรียนเพราะลูกมีความมั่นใจ ตรงไปตรงมา เพราะเขาถูกปลุกฝังให้กล้าคิดกล้าแสดงออก ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรที่น่ากังวลใจ คือจะมีปัญหาก็มีอย่างเดียวคืออาจจะทำให้คุณครูสอนได้ไม่ค่อยราบรื่นถ้าถามบ่อยไปก็เท่านั้น

สรุปการแก้ปัญหาพฤติกรรมนี้ของลูกก็ง่ายๆเลยคือเราก็บอกว่าเวลาลูกสงสัยอะไรระหว่างที่ครูสอนให้จดคำถามเอาไว้ก่อน เวลาครูให้โอกาสค่อยยกมือถาม หรือไม่งั้นก็รอหมดคาบแล้วค่อยถาม หลังจากนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย

ทุกวันนี้ลูกก็ยังคงมีความสุขดีทั้งที่บ้านและโรงเรียน ส่วนคุณครูก็เข้าใจธรรมชาติของลูกมาขึ้นจนไม่ติดใจอะไรแล้วค่ะ

ขึ้นหนึ่งค่ำ

คุณแม่ท่านหนึ่ง กรุงเทพฯมหานคร
ภาพ PIXABAY

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน