‘บัณฑูร ล่ำซำ’มุ่งฟื้นฟูผืนป่า – “การมาทำโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ทำให้ชีวิตผมมีคุณค่า”

นายบัณฑูร ล่ำซำ อดีตกรรมการและประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ที่ตอนนี้นั่งตำแหน่ง ประธานกิตติคุณธนาคารกสิกรไทยกล่าวกับผู้สื่อข่าวเครือมติชนระหว่างเล่าถึงโครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์”

“ผมเริ่มทำโครงการมาตั้งแต่ปี 2557 น่านเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามาก เมื่อก่อนป่าน่านถือว่าเป็นป่าต้นน้ำของประเทศที่มีความเขียวขจีสวยงามมาก แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าเสียหายไปเยอะ ทำให้เราต้องเริ่มเข้าไปศึกษาว่าเกิดเพราะอะไร” นายบัณฑูรเกริ่นถึงช่วงเริ่มโครงการพร้อมแจกแจงรายละเอียด

ปัญหาของจังหวัดน่านคือไม่มีพื้นที่ คือ พื้นที่จังหวัดน่าน 7,601,930 ไร่ พื้นที่ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 = 6,435,792 ไร่ 85% ของพื้นที่ทั้งจังหวัดน่าน มีเพียง 15% ที่สามารถอยู่อาศัย ทำมาหากินได้ นอกนั้นเป็นพื้นที่ป่า จึงทำให้มีการบุกรุกป่าเยอะ

ตอนนี้ที่จังหวัดน่านมีโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในการประชุมทุกครั้ง เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยในพื้นที่โดยเฉพาะและตนได้ทำโครงการ “น่านแซนด์ บ็อกซ์” ขึ้นมาอีกซึ่งเป็นคนละโครงการกันเป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง

นายบัณฑูรอธิบายต่อว่า ตอนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวโพด ซึ่งไม่ได้สร้างรายได้มากนัก แต่ชาวบ้านไม่ทราบว่าจะปลูกอะไรที่สามารถสร้างรายได้มากกว่านี้ และเมื่อก่อนชาวบ้านต้องการพื้นที่คนละ 40 ไร่ในการทำมาหากิน เราคงให้ตามนั้นไม่ได้ ตัวโครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์” เป็นโครงการขอคืนพื้นป่า เราต้องการพื้นที่ป่าคืน และชาวบ้านก็ต้องการพื้นที่ทำมาหากิน เราจึงต้องจัดสรรให้มันไปด้วยกันให้ได้ เจอกันคนละครึ่งทางระหว่างชาวบ้านกับรัฐ โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ มีเป้าหมายเดียวกันกับรักษ์ป่าน่าน คือลดการสูญเสียป่าต้นน้ำของไทยที่หายไปแล้ว 28% การจัดสรรพื้นที่ดินป่าตามกฎหมายจังหวัดน่านคือ 72% ยังเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ 18% ต้องกลับมาเป็นพื้นที่ป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ แต่อนุญาตให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ 10% ยอมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเต็มที่ (แต่ยังคงความเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย)

“ผมได้นำโครงการนี้เข้าพูดคุยหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และคณะแล้ว ตั้งแต่เมื่อปี 2561 ซึ่งท่านเห็นด้วยกับโครงการนี้ และนำเข้าแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้วย เป็นแผนแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลนี้ โดยกล่าวว่าหากโครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โครงการนี้จะเป็นโครงการต้นแบบให้กับการฟื้นฟู ผืนป่าทั่วประเทศได้” นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรเล่าต่อว่า โครงการนี้ต้องเห็นเป็นรูปธรรม เราจะขอพื้นที่ป่าคือโดยการปลูกต้นไม้แค่ต้นสองต้นไม่ได้ ต้องปลูกต้นไม้ใหญ่เต็มพื้นที่ แล้วปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ ดังนั้นเราต้องหาว่าพืชชนิดใดที่จะปลูกได้ในภูมิประเทศ ภูมิอากาศแบบนั้น ที่สำคัญ ที่สุดต้องสร้างรายได้ใช้ชาวบ้านได้จริง สร้างรายได้อย่างยั่งยืน พื้นที่ป่าจะกลับมาพร้อมๆ กับชาวบ้านที่สามารถอยู่ได้ มีรายได้

“ตอนนี้เรายังหาไม่ได้ว่าจะปลูกอะไร ต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน การจะบอกให้เขาปลูกอะไรเราต้องมีภาพให้เขาเห็นชัดเจนว่า ปลูกได้จริง สร้างรายได้จริง ต้องมีตัวเลขให้เขาเห็นชัดเจนว่าปลูกอันนี้ 1 ไร่ จะมีรายได้เท่าไหร่ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน พิสูจน์ ได้ว่าดีกว่าของเดิมที่เขาปลูกกันอยู่ เขาจะ ได้สร้างป่าให้เราและอยู่ไปได้ตลอด ผมเล็ง เอาไว้ว่าอาจจะเป็นพืชที่มีคุณค่าทางเภสัช นำไปทำยาได้ ผมมองว่าเมื่อเราเริ่มต้นได้แล้วสิ่งต่างๆ จะตามมาเอง ทั้งสายการผลิตที่จะรองรับผลิตผลของชาวบ้าน พื้นที่การขาย การส่งออก ที่จังหวัดน่านนั้นการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้เพียงในเมือง มีกาแฟเป็นจุดขายแต่นักท่องเที่ยวไม่รู้ว่ามองวิวจากร้านกาแฟไปสวยมากแต่เป็นภูเขาหัวโล้น เป็นพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายเราต้องฟื้นฟู” นายบัณฑูรเล่า

นายบัณฑูรเล่าอีกว่า ระหว่างทำโครงการนี้มาตนได้ลงพื้นที่ที่จังหวัดน่านตลอด จัดการภาระงานในเมืองเสร็จแล้วตนจะไปจังหวัดน่านเลย บางทีก็ไปอยู่เป็นเดือน เราต้องลง พื้นที่จริงๆ เข้าไปเรียนรู้พื้นที่จริง ทำความเข้าใจชาวบ้าน ซึ่งหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลแล้วตนได้ลงไปพูดคุยกับระดับจังหวัดพูดคุยกับหัวหน้าชุมชน เขามีความเข้าใจในสิ่งที่โครงการนี้จะทำ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมากๆ เราได้กระตุ้นความสำนึกในการสูญเสียป่าต้นน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศให้เขาเห็น ความสูญเสียนี้มีนัยยะสำคัญต่อโลกร้อนและอื่นๆ

โครงการนี้จะเป็นความร่วมมือของรัฐและภาคประชาชนอย่างชัดเจน เรามีโครงการไปนำเสนอเขา จัดทำข้อมูลทุกๆ อย่างให้ แต่ต้องอาศัยรัฐซึ่งเป็นผู้คุมกฎหมายต่างๆ เป็น ผู้ขับเคลื่อน เขาไม่ได้มีงบประมาณให้เรา การทำลายพื้นที่ป่าน่านมีมานาน แต่โชคดี ที่สำรวจพบว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม ผมทำโครงการนี้เพราะอยากเห็นป่ากลับคืนมา ชาวบ้านมีวิถีการ ทำกินแบบใหม่ ยืนบนวิถีการผลิตสินค้าที่ มีราคา ไม่ต้องวนไปเจอปัญหาประกันราคาพืชผลไม่จบสิ้น

“โครงการมีความคืบหน้าไปมาก แม้จะยังไม่รู้ว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จเมื่อใดแต่การมาทำโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ทำให้ชีวิตผมมีคุณค่า”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน