บุ๊กสโตร์ – ผู้สื่อข่าวหรรษา

ตื่นเต้นแหละ ดูออก…จะได้พบกันในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 49 ระหว่าง 17-25 เม.ย.64 ณ ฮอลล์ 98-99 ไบเทค บางนา

สำหรับ “สำนักพิมพ์มติชน” รออยู่แล้วที่ บูธ L19 ชวนนักอ่านร่วมขับเคลื่อนความคิดด้วย “Read to be Free อ่านปลดแอก” พบขบวนหนังสือไฮไลต์ หนังสือใหม่ ทั้งการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมไทยและต่างประเทศ รวมถึงรับชมงานเสวนาที่จะสร้างประสบการณ์และการรับรู้ใหม่แก่สาธารณะ

เพื่อเปลี่ยนทุกความลวงให้เป็นความรู้ เปลี่ยนวิธีต่อสู้มาสู่การอ่าน เปลี่ยนอดีตสลัวรางเป็นหนทางอนาคตอันสดใส

“ระหว่างบรรทัด” บันทึกประวัติศาสตร์มหากาพย์บัตรทอง ความจริงระหว่างบรรทัดถึงที่มาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลักประกันด้านสุขภาพของคนไทยทุกคน

การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ถือเป็นปฐมบทของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่คุ้นชินกันในชื่อ “บัตรทอง” และโครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งไม่ว่าจะเรียกขานด้วยนามใด ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือระบบได้ผ่านการพิสูจน์จนสิ้นสงสัยแล้วว่า ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่าง แข็งขันมาเกือบ 2 ทศวรรษ ส่งผลให้คนไทยเข้าถึงบริการในยามจำเป็นได้มากขึ้น ไม่ต้องรอจนป่วยเจียนตาย ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่ารักษา ที่สำคัญก็คือให้สิทธิด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียม เสมอหน้ากันด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการเดินทางของระบบหลักประกันสุขภาพฯ ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ยังมีความสับสนเรื่องตัวตนและที่มา ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง เกิดเป็นวาทกรรมต่างๆ จำนวนมาก และทุกวันนี้ยังคงมีสายตาแห่งความเคลือบแคลง มีความเข้าใจผิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แท้จริงแล้วเป็นเพียงแนวคิด “ประชานิยม” หรือ “เครื่องมือทางการเมือง” ของบางคน บางพรรคเท่านั้น

การบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตจึงมีความสำคัญ เพราะนั่นคือเครื่องมือเรียนรู้ปัจจุบัน รวมทั้งทำนายอนาคต เฉพาะอย่างยิ่ง การบันทึกคำบอกเล่าจากปากของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ผู้ที่มีบทบาทในการเขียนประวัติศาสตร์หน้าสำคัญนั้นด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เกิดความน่าเชื่อถือ และเกิดคุณค่าอย่างถึงที่สุด

“สงครามเย็น(ใน)ระหว่างโบว์ขาว” ผลงานเล่มล่าสุดจาก ผศ.ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก้าวเข้าไปสำรวจฟัง “เสียง” อันหลากหลาย ภายใต้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีที่ผ่านมา

สำรวจมุมมองและโลกทัศน์ทางการเมืองระหว่าง “คนรุ่นสงครามเย็น” “คนรุ่น (ใน) ระหว่าง” และ “คนรุ่นโบว์ขาว” คน 3 เจเนอเรชั่นที่ล้วนมีบทบาทสำคัญในปรากฏการณ์ทางการเมืองสำคัญของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2563 จากการเข้าไปร่วมสังเกต สนทนา เก็บสถิติ และทำความเข้าใจความ แตกต่างของพวกเขาจากพื้นที่การชุมนุมจริง และฉายภาพเบื้องหลัง ความแตกต่างทางการเมืองของคน 3 วัย 3 เจเนอเรชั่นด้วยความเข้าใจ เพื่อชี้ชวนให้เราหาทางออกร่วมกันว่าท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไปไม่หยุดยั้ง เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

“กาดก่อเมือง : ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา” ผลงานของ วราภรณ์ เรืองศรี ที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุไว้ในคำนำเสนอ “งานศึกษาชิ้นนี้มองชาติพันธุ์ด้วยทัศนะของนักวิชาการรุ่นใหม่ ชาติพันธุ์ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เป็นสำนึกที่ก่อตัวขึ้นด้วยปัจจัยต่างๆ ทางสังคม ดังนั้นจึงมีพลวัตในตัวเองสูง ไม่เคยหยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มากบ้างน้อยบ้าง

ว่าเฉพาะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ก็ไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ นอกจากจะผสมกลมกลืนกับกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงแล้ว การค้ายังทำให้เกิดความสัมพันธ์พิเศษระหว่างคนในชุมชนบางกลุ่มกับคนนอกชุมชนทั้งในชาติพันธุ์เดียวกันและต่างชาติพันธุ์ ดังเช่นในรัฐชานตอนบนและที่สูงกะฉิ่น มีชุมชนชาวฮ่อหรือพ่อค้าที่เดินทางไกลจากยูนนานมาตั้งหลักแหล่งถาวร แต่งงานกับผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น และเดินทางทำการค้าในฤดูเดินทางทุกปี ยังไม่พูดถึงเจ้าของม้า, ล่อ, งัวต่าง และลูกหาบ ซึ่งให้เช่าสำหรับการค้าในระยะใกล้บ้าง ไกลบ้างอยู่เสมอ

หากมองความสัมพันธ์เช่นนี้นอกไปจากความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการค้าย่อมมีมโหฬาร

“หนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามใหม่กับหลักฐานที่เกี่ยวกับการค้าในรัฐหุบเขาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของโซเมีย อันไม่ใช่หลักฐานใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้เสียเลย แต่เพราะผู้เขียนตั้งคำถามที่ทำให้หลักฐานให้คำตอบเกี่ยวกับชีวิตและโลกทรรศน์ของประชาชนระดับล่างโดยทั่วไป จึงทำให้กลายเป็นงานศึกษาประวัติศาสตร์ประชาชนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และมีในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยไม่สู้มากนัก”

…วันนี้ 4 เม.ย. วันสุดท้ายแล้วของ “เทศกาลหนังสือฤดูร้อน Summer Book Fest 2021 at Chiangmai” และนี่คือ 10 เล่มที่นักอ่านชาวเชียงใหม่ให้ความสนใจจากบูธมติชน

1. ยุคทองล้านนา 2. กาดก่อเมือง 3. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย 4. โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว 5. ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ 6. ราชันผู้พลัดแผ่นดิน 7. ความรักของวัลยา 8. แตกเป็นแตก 9. ต้นสายปลายจวัก และ 10. วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย

…ระหว่างนับถอยหลังไปคึกคักในสัปดาห์หนังสือ “สำนักพิมพ์ มติชน” ชวนคลิกสั่งซื้อหนังสือเล่มโดนๆ แบบควิกๆ ในราคาพิเศษ ลด 15% ณ ร้านออนไลน์ www.matichonbook.com

ยกตัวอย่าง 3 เล่มพาตาสว่าง

“ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์” (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4) รวมบทความวิเคราะห์วิจารณ์ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องของการสร้างชาติไทย ชาตินิยม การกล่อมเกลาผ่านแบบเรียน สงครามอนุสาวรีย์ระหว่างสองรัฐ และรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์

ว่าด้วยเรื่องปัจจัยนานาประการที่อยู่เบื้องหลังการสร้างรัฐชาติและการปกครอง (หรือครอบงำความคิด) ของประชาชนด้วยการใช้แบบเรียนเป็นเครื่องมือเผยแพร่แนวคิดความรักชาติ การสร้างชาติ ชาติไทย ความเป็นไทย โดยสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอนั้นคือการปลูกฝังจิตสำนึกร่วมกันโดยใช้แบบเรียนเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลา และมีจุดเริ่มต้นจากหมู่บ้านและครอบครัว จนกระทั่งสู่มหภาคอย่างกระบวนการศึกษาของรัฐ

“เขียนชนบทให้เป็นชาติ” ชนบทในความทรงจำของคุณเป็นแบบไหน ทิวทัศน์ของท้องทุ่งที่มีภูเขาเป็นฉากหลัง? บ้านกระท่อมที่ทำจากไม้? วัวควายเดินอยู่ในทุ่งนา? เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเราทุกคนจึงจินตนาการถึง “บ้าน” หรือบรรยากาศของความเป็นไทยในลักษณะที่คล้ายคลึงกันเช่นนี้

เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ พาร่วมคลี่ปมประวัติศาสตร์ความรู้ของมานุษยวิทยาไทยยุคบุกเบิกและการเมืองเบื้องหลังชนบทศึกษาในประเทศไทยที่เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อนกับรัฐบาลสหรัฐ รัฐไทย รวมไปถึงวงวิชาการด้านมานุษยวิทยาในยุคสงครามเย็นที่ล้วนหนุนเสริมกันและกันให้สร้างองค์ความรู้ว่าด้วยชนบทในนามของการแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการสร้างรัฐประชาชาติที่สามารถสอดส่องได้

“เผด็จการวิทยา” พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักคิด นักเขียน นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อศึกษาว่า เหตุใดระบอบเผด็จการจึงเติบโตและเกาะกินระบอบการเมืองทุกรูปแบบได้อย่างชาญฉลาด สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้ถูกท้าทายจากผู้คนที่เชิดชูสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย แต่สุดท้ายแล้วระบอบเผด็จการภายใต้รูปลักษณ์ต่างๆ ก็ยังคงอยู่อย่างไม่อาจคาดคำนวณได้ว่าจะจบสิ้นลงเมื่อใด

ทั้งหมดนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ความเจริญก้าวหน้าของสังคมไม่ได้หมายมุ่งไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเพียงเท่านั้น แต่จงระวังการปรากฏตัวของเผด็จการใน ยุคสมัยใหม่ เพราะถึงอย่างไร ไม่ว่าระบอบเผด็จการจะอยู่ในรูปลักษณ์ไหน ย่อมถือเป็นความคิดและ การกระทำที่สังคมโลกไม่อาจยอมรับได้

ลงมืออ่านปลดแอกกันเถอะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน