“ผู้สื่อข่าวหรรษา”

อ.ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความชุดนี้ติดต่อกันในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงตุลาคม 2557

เพื่อสะท้อนระเบียบวิธีคิดและโลกทัศน์สมัยใหม่ที่เป็นเหตุเป็นผล และเป็นวิทยาศาสตร์ตามแนวคิดตามกระแสของยุคสมัยที่เรียกว่า “ยุคแสงสว่างทางปัญญา” (The Age of Enlightenment) แบบตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับพระราชดำริทางการเมืองและสังคมอย่างล้ำลึกของพระองค์

โดยอธิบายผ่านพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 อาทิ “พระบรมราชาธิบายเรื่องดาวหาง”, พระราชนิพนธ์เรื่อง “นานาธรรมวิจารินี”, พระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชสาส์นตอบรับบรรณาการแลสาส์นจากประธานาธิบดีอเมริกา จ.ศ.1222 (พ.ศ.2403)” เป็นต้น

พระบรมราชาธิบายเรื่องปรากฏการณ์ดาวหางนั้น ทรงมุ่งให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ราษฎรชาวสยาม แสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ทรงงมงาย ทั้งทรงพยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์

ขณะที่พระราชนิพนธ์อีกเรื่อง แสดงถึงองค์ความรู้อันเกี่ยวกับความคิดทางการเมือง และสังคมของพระองค์อย่างล้ำลึก ดังที่ อ.ไชยันต์อธิบายว่า คนไทยอาจจะรู้จักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” แต่ในมุมของความคิดทางการเมือง และสังคมของพระองค์ก็โดดเด่นไม่แพ้ความรู้ทางดาราศาสตร์เลย

ยุคแสงสว่างทางปัญญา หรือกระบวนการตื่นรู้ (The Age of Enlightenment) อ.ไชยันต์เลือกใช้คำภาษาไทยว่า “ตาสว่าง” อันนอกจากจะมีความหมายตรงว่า ไม่ง่วงงัวเงีย ยังหมายถึง การหลุดจากความลุ่มหลงเชื่อที่ผิดๆ และพ้นจากความมืด

“ปรากฏการณ์การ “ตาสว่าง” ทางปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มิได้จำกัดอยู่แค่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) อันได้แก่ ความรู้ว่าโลกกลม ความรู้เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาล ดาราศาสตร์ แต่ยังทรงรับรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาสมัยใหม่ในเรื่องราวของระเบียบแบบแผนของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ด้วย”

ซึ่งระเบียบแบบแผนของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์นี้ อ.ไชยันต์ ไชยพร เห็นว่ามันก็คือเรื่อง “การเมือง” นั่นเอง

…นิตยสาร “กุลสตรี” ประมวลภาพงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่ผ่านไปอย่างสมพระเกียรติ ท่ามกลางน้ำตาแห่งความโศกาอาดูรของพสกนิกรไทย และตื่นตากับอุโมงค์ดอกไม้ขนาดใหญ่ ที่ชาวปากคลองตลาดรวมใจจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี โดยใช้ดอกไม้เป็นตัวแทนแห่งความรักและอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

…เข้าหนาวแล้ว นิตยสาร “หมอชาวบ้าน” แนะวิธีดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน “ฤดูหนาวเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการเสริมบำรุงที่ดีที่สุด เป็นช่วงที่ร่างกายสู่สภาวะสงบ เก็บสะสม หลีกเลี่ยงการสูญพลัง จึงต้องให้ความสำคัญของการเลือกกินอาหาร การออกกำลังกาย การให้ความอบอุ่นกับร่างกาย การพักผ่อนนอนหลับ?การดูแลสุขภาพที่ดีในวันนี้คือหลักประกันสุขภาพในวันข้างหน้า”

…พ็อกเก็ตบุ๊กแนะนำอาทิตย์นี้ “City Sight เมืองที่มองไม่เห็น” รวมบทความคัดสรรเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและธรรมชาติในสังคมเมือง ผ่านมุมมองของ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลก สีเขียว และคนกรุงเทพฯ รุ่นสุดท้ายที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เนื้อหาเป็นเรื่องใกล้ตัวคนเมืองที่ต้องอยู่ร่วมกันบนวิถีชีวิตที่ซ้ำซากจำเจ แต่เราสามารถออกแบบเมืองที่เราอยากใช้ชีวิตได้ (185 บาท, สำนักพิมพ์แซลมอน บุ๊กส์)

“บุรุษเสือดาว” อีกตอนในชุดนักสืบอะเกะชิ โคะโงะโร ผลงานเขียน เอะโดะงะวะ รัมโปะ เมื่อยอดนักสืบตกที่นั่งลำบาก เพราะต้องรับมือกับคนร้ายที่อันตรายอย่างยิ่ง ป่าเถื่อนผิดมนุษย์มนา ไม่รู้เป็นเสือหรือคนกันแน่ “อะเกะชิต้องใช้ความทรหดและไหวพริบฝ่าฟันเหตุร้ายนี้ไปให้ได้ หาไม่แล้ว ชีวิตของคนใกล้ชิดอาจดับสูญ” รัตน์จิต ทองเปรม แปล (245 บาท, สำนักพิมพ์เจคลาส)

…เกี่ยวกับสามก๊กอีกเล่มน่าอ่าน “อยู่อย่างฉลาด อยู่อย่างสามก๊ก” นำแนวทางในวรรณคดีสามก๊กมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน อ่านเป็นความรู้เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกหลอกลวงจากพวกเหลี่ยมจัดมากเล่ห์ และเพื่อเป็นการหาโอกาสสร้างความสำเร็จในชีวิต เรียบเรียงโดย เปี่ยมศักดิ์ คุณากรประทีป (300 บาท, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ)

“แม่ปั้นมา” อัตชีวประวัติของ รัสเซลล์ เบเกอร์ จากเด็กขายหนังสือพิมพ์ข้างถนนสู่นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ และ นักเขียนรางวัลพูลิตเชอร์ บอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ยาก คุณค่าแห่งความรักของแม่ ในสมัยที่คนอเมริกันยุคอุตสาหกรรมเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำก่อนสงครามโลก ผู้เขียนเล่าเรื่องราวความรักของแม่ไปพร้อมๆ กับประวัติศาสตร์การเมืองอย่างน่าประทับใจ “ไม่มีความรักใดอีกแล้วที่จะยิ่งใหญ่เท่าความรักของแม่” ยุพเรศ วินัยธร แปล (250 บาท, สำนักพิมพ์แสงดาว)

“จากจักรพรรดิสู่สามัญชน” อัตชีวประวัติ “ปูยี” จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง “เมื่อสิ้นซูสีไทเฮา เราต่างเข้าใจว่าราชวงศ์ชิงสิ้นสลายแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ายังมีจักรพรรดิอีกพระองค์หนึ่งที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของพระนาง และต่อมาได้กลายเป็นสามัญชนคนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสามารถดำรงตนอย่างมีคุณค่าตราบ วาระสุดท้ายของชีวิต” หนังสือเล่มนี้คือที่มาของภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่ The Last Emperor หรือ “จักรพรรดิโลกไม่ลืม” ของผู้กำกับฯ ชาวอิตาเลียนคนดัง เบอร์นาโด แบร์โตลุชชี ยุพเรศ วินัยธร แปล (500 บาท, สำนักพิมพ์แสงดาว)

“HER Publishing” ในเครือโมโน กรุ๊ป เสนอผลงานเขียนเรื่องรักสุดลึกซึ้ง 2 เล่ม “Oneday” ของ “อาณดา” อาณดา สามสุวรรณ เจ้าของเพจที่มีผู้ติดตามกว่า 1 แสนคน เปิดเปลือยความลับในใจของผู้หญิง และ “Yesterday” โดย “ชวัล” ชวัลนุช ไพศาลภิณญากร (แมวเหมียว) แอดมินเพจ “เมื่อวาน” ที่มีผู้ติดตามกว่า 5 แสนคน งานเขียนที่จะทำให้นึกถึงใคร บางคนในอดีต

…พบกันใหม่อาทิตย์หน้า

มติชนอคาเดมีเชิญชวนแฟนๆ ร่วมเดินทาง “ทัวร์ตามรอย “ท้องพระเมรุ” กลางกรุงศรีอยุธยา” นำโดย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียนหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย” เจาะลึกธรรมเนียมราชสำนักเรื่องธรรมเนียมพระบรมศพถึงสถานที่จริง ในพระราชวังหลวง หรือพระราชวังโบราณ ที่ตั้งพระบรมศพของกษัตริย์สมัยอยุธยา ท่านละ 2,000 บาท เดินทางวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2560

สนใจร่วมเดินทาง ติดต่อ 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 และ 08-2993-9097, 08-2993-9105

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน