น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ฉบับวานนี้ (13 พ.ย.) “แก้วเก้า” อยากทราบความเป็นมาของพระพุทธรูป 2 องค์ที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวานเสนอเรื่อง พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วันนี้อ่านกันต่อ

พระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ขนาดกว้าง 5 ศอก 4 นิ้ว สูง 7 ศอก วัสดุสำริดลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ

สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช พระศรีศาสดา และพระเหลือ เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ต่อมาพระวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ขาดการปฏิสังขรณ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2372 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระพุทธชินสีห์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า สร้างในสมัยใด คงมีแต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่างๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา เรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปี 2350 ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนาม พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลก และพระพุทธรูปอีก 2 องค์ คือ พระพุทธชินราช และ พระศรีศาสดา

พ.ศ.2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา ในชื่อ “ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา” ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิง จึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา หล่อในปีพุทธศักราช 1498 และพระพุทธชินราช หล่อขึ้นในปีพุทธศักราช 1500 (หย่อนอยู่ 7 วัน)

พ.ศ.2523 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ วริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงแต่งตำนานการสร้างพระพุทธชินราช ขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ชื่อ “พงษาวดารเหนือ : เป็นลิลิตเรื่องนิทานพระร่วง แลนิทานพระเจ้าธรรมไตรปิฎก นิทานพระชินศรี พระชินราช พระศาสดา” มีเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับพงศาวดารเหนือ และพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 4 แต่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระพุทธชินราชเข้าไปด้วย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระดำริว่า พระพุทธชินสีห์ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากพุทธศิลป์อย่างพระพุทธรูปสุโขทัยระคนกับพุทธศิลป์เชียงแสน แต่มีพัฒนาการไปกว่าพระพุทธรูปที่มีอยู่เดิม และช่างผู้สร้าง พระพุทธชินสีห์ กับ พระพุทธชินราช นั้น เป็นช่างเดียวกัน หากแต่ พระศรีศาสดา เป็นช่างอื่น จากลักษณะประติมากรรมของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ที่ปรากฏ แต่จะสร้างพร้อมกันทั้ง 3 องค์หรือไม่นั้น ไม่ทราบแน่ชัด

และเมื่อพิจารณาช่วงเวลาการสร้างแล้วทรงคาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในปีพุทธศักราช 1900 ประทานเหตุผลว่า “พระเจ้าแผ่นดินซึ่งปรากฏพระเกียรติในเรื่องพระไตรปิฎกนั้นมีแค่พระองค์เดียวคือพระมหาธรรมราชาลิไท…พระมหาธรรมราชานี้เองที่พงศาวดารเหนือเรียกว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก”

แรกเชิญมาถึงวัดบวรนิเวศวิหาร พระพุทธชินสีห์ประดิษฐาน ณ มุขหลังของพระอุโบสถจัตุรมุข ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวช ขอพระบรมราชานุญาต อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ อยู่เบื้องหน้าพระพุทธสุวรรณเขต เมื่อ พ.ศ.2380 ทรงติดทองกะไหล่พระรัศมี ฝังพระเนตรและฝังเพชรที่พระอุณาโลมใหม่ พร้อมทั้งปิดทององค์พระพุทธรูป

และเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ในปี 2394 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แผ่แผ่นทองคำลงยาราชาวดีประดับพระรัศมีเดิม ถวายฉัตรตาด 9 ชั้น ถวายผ้าทรงสะพักตาด ต้นไม้เงินทอง และกลองมโหระทึกสำหรับประโคมในเวลาพระสงฆ์บูชาเช้าค่ำเป็นเกียรติยศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อฐานสำริดปิดทองใหม่

ใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 6 ซึ่งเคยผนวช ณ วัดนี้เมื่อยังทรงดำรง พระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร กระทั่งวันที่ 29 ตุลาคม 2560 บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน