“ณัฐพงษ์ บุณยพรหม”

ภูมิภาคคิวชู ประเทศญี่ปุ่น อาจยังไม่เป็นที่นิยมของคนไทยมากนัก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) จึงเชิญสื่อมวลชนเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อค้นหาเสน่ห์ที่เป็นเหมือน “อันซีน” ของญี่ปุ่น

คิวชูตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะฮอนชู เป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ฟุคุโอกะ, ซากะ, นางาซากิ, โออิตะ, มิยะซะกิ, คุมาโมโต้ และ คะโงะชิมะ

เมื่อมาถึงต่างบ้านต่างเมืองก็จำเป็น ต้องมาไหว้พระขอพรที่ศาลเจ้า จุดแรกคือ “ศาลเจ้ามิยาจิดาเกะ” เป็นศาลเจ้าของศาสนาชินโตซึ่งคนญี่ปุ่นนับถือมากที่สุด

เล่ากันว่า ศาลเจ้าแห่งนี้กำเนิดโดย พระราชินีจิงงุ ที่มาขอพรก่อนรบกับประเทศเกาหลี จนได้รับชัยชนะและขึ้นเป็นจักรพรรดินี จิงงุ ศาลแห่งนี้ยังมีศาลเจ้าอีก 8 แห่งอยู่ในที่เดียวกัน เชื่อว่าหากได้มาไหว้ทั้งหมดแล้วจะประสบความสำเร็จ ค้าขายเจริญรุ่งเรือง

ทางเข้าศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินเขา ด้านหน้ามีถนนทอด ยาวไปสู่ทะเลมองออกไปไกลสุดสายตา ในช่วงวันที่ 20 ก.พ. และ 20 ต.ค.ของทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสความงามของพระอาทิตย์ตก ซึ่งแสงอาทิตย์จะสาดส่องเป็นทางยาว ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า “เส้นทางแสง”

ขึ้นมาถึงศาลเจ้าจะพบ “เชือกชิเมะ นะวะ” หรือเชือกศักดิ์สิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ทำจากฟางข้าว เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตร ยาว 13.5 เมตร หนักถึง 5 ตัน

ศาลเจ้ามิยาจิดาเกะยังมีความเป็น “ที่สุด” อีก 2 อย่างคือ “กลองไทโกะ” ขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ยาว 2.2 เมตร และกระดิ่งที่ใหญ่ที่สุดหนักกว่า 450 กิโลกรัม

ศาลเจ้าอีกแห่งที่ไปสักการะคือ “ศาลเจ้ามุนาคาตะ ไทฉะ” ตั้งอยู่บนเกาะโอกิโนชิมะ เป็นที่บูชาเทพีแห่งท้องทะเล มีข้อห้าม คือห้ามผู้หญิงขึ้นมาบนเกาะ ให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น และก่อนขึ้นเกาะก็ต้องเปลือยร่างอาบน้ำทะเลให้สะอาดก่อน

ด้วยที่มีความเก่าแก่และมีชื่อเสียง ยูเนสโก จึงขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ตัวศาลเจ้ามี 3 แห่งอยู่ด้วยกัน คือ โอคิซึมิยะ นาคะซึมิยะ เฮะซึมิยะ เรียกรวมว่า “ศาลเจ้ามุนาคาตะ”

แต่ที่เราไปสักการะขอพรเป็น ศาลเจ้าเฮะซึมิยะ ซึ่งเป็นสุสานโบราณของเจ้านายในอดีต สร้างเป็นวิหาร มีเสาหินก้อนใหญ่ 14 ต้นที่นำมาจากเกาะโอกิโนชิมะ โดยใน 1 ปี จะอนุญาตให้เข้าได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น นับเป็นสุสานโบราณที่ใหญ่อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น

ช่วงค่ำมีโอกาสไปที่แผงขายอาหารกลางคืนย่านนาคาสุ เมืองฮากาตะ ที่เริ่มตั้งร้านกันตั้งแต่ 6 โมงเย็นยาวไปจนถึงตี 3 มีร้านขายอาหารตั้งเรียงรายอยู่เป็นระยะกว่า 130 ร้าน แต่ละแห่งมีเมนูเด็ดที่แตกต่างกัน อาทิ โอเด้ง ไก่ย่างเสียบไม้ เกี๊ยวซ่า และ ฮากาตะราเมน ลองชิมราเมนซึ่งมีรสที่กลมกล่อม เส้นที่นุ่ม เป็นสีสันอีกแห่งที่ นักท่องเที่ยวต้องมาเยือน

วันรุ่งขึ้นออกเดินทางไป เมืองซากะ เมืองประมงที่โด่งดัง แวะลิ้มลองปลาหมึกโยบุโกะอันขึ้นชื่อ ที่เสิร์ฟแบบ ตัวเป็นๆ สีใส มาพร้อมมะนาวฝานบางและวาซาบิ จิ้มซีอิ๊ว รสชาติหวานนุ่มลิ้น แต่หากใครไม่ชอบกินดิบๆ ทางร้านมีบริการเตากระทะมาให้ทอดเอง โดยใช้เนยแทนน้ำมัน

ก่อนเข้าเมืองซากะต้องผ่าน “ป่าสน ดำนิจิโนะมัตสึบาระ” ขนาดใหญ่ที่สุด ในญี่ปุ่น ปลูกเรียงรายอยู่ริมอ่าวคาราสึ มีความยาวกว่า 4.5 กิโลเมตร กว้างถึง 1 กิโลเมตร อายุกว่าร้อยปี ปลูกโดย เจ้าเมือง

ป่าสนแห่งนี้มีความสำคัญเป็นแนวกันลมทะเลพัดเข้าเมือง สมัยก่อนถึงกับออกกฎหมายห้ามชาวบ้านตัดต้นสนเด็ดขาด ใครฝ่าฝืนมีโทษถึงประหารชีวิต

ต่อมาขึ้นไปยังจุดชมวิวบนภูเขาคางามิยาม่า สูงกว่า 284 เมตร มองเห็นวิวที่ทะเล แนวป่าสนดำและรอบๆ อ่าวไกลสุดลูกหูลูกตา

เพราะที่ตั้งของคิวชูมีทั้งทะเลและภูเขาอัน ซับซ้อน แถมยังมีอากาศที่อบอุ่น คิวชูจึงมีแหล่ง “ออนเซ็น” ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง จึงมีโอกาสสัมผัสออนเซ็นที่เมืองอุเรชิโนะออนเซ็น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องบ่อน้ำพุร้อนและออนเซ็น อุดมไปด้วยแร่ธาตุทำให้ผิวลื่นและนุ่ม เข้าพักที่โรงแรมแบบเรียวกัง ลองใส่ชุดยูกาตะแล้วลงแช่ตัวในบ่อน้ำพุร้อนรู้สึกผ่อนคลายความเหนื่อยล้า เลือดลมหมุนเวียนดีขึ้น

วันถัดมาไปสักการะ “ศาลเจ้ายูโทะคุอินะริ” หรือศาลเจ้าจิ้งจอก ที่อำเภอคาชิมะ เป็น 1 ใน 3 ศาลเจ้าที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ตั้งเด่นอยู่บนเขา สร้างขึ้นเพื่อบูชา “เทพเจ้าอินาริ” เทพเจ้าแห่งพืชพันธุ์ ด้านในมีรูป ปั้นสุนัขจิ้งจอก สัญลักษณ์ของศาลอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

ศาลเจ้าอินาริ นี้ มีศาลย่อยอีกกว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศ จนมีคำพูดกันว่าศาลเจ้านี้มีสาขามากกว่าเซเว่น อีเลฟเว่นซะอีก ในปีหนึ่งๆ มีผู้มาเยือนกว่า 3 ล้านคน คนญี่ปุ่นจะเทิดทูนศาลเจ้า แห่งนี้มาก

จุดหมายต่อไปของเราคือจังหวัดนางาซากิ ไปกินมื้อกลางวันที่ร้านอาหารเก่าแก่กลางไชน่าทาวน์ อาหารขึ้นชื่อของที่นี่ คือ “จัมปง” คล้ายราเมนผสมราดหน้ามีเส้นที่เหนียวนุ่ม บวกกับ น้ำซุป และผักนานาชนิด ก่อนขึ้นชมวิวยามค่ำคืนบนเขาอินาสะ จุดชมวิวเมืองนางาซากิสูง 333 เมตร

อีกหนึ่ง “อันซีน” ที่ไม่ควรพลาดคือ อุทยานแห่งชาติออนเซ็น อันเซ็น ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสำหรับคนไทย อยู่ในเมืองชิมาบาระเป็นเมืองภูเขาไฟ ที่นี่มีสวนสาธารณะ น้ำแร่ใต้ดินและมีลาวาที่ยังร้อนอยู่

อันเซ็นเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับแรกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1934 เมื่อเดินเข้าไปจะพบบ่อน้ำพุร้อนมีควันไอน้ำพวยพุ่ง ขึ้นมาจากใต้พิภพ ปกคลุมไปทั่วบริเวณ สัมผัสได้ถึงกลิ่นกำมะถันที่โชยมา

คนสมัยโบราณเชื่อกันว่าใต้ดินแห่งนี้เป็นทางเชื่อมต่อของ นรก บางครั้งบ่อแห่งนี้จะมีเสียงร้องดังขึ้นมา จึงเป็นที่มาของคำว่า “บ่อนรกอันเซ็น” บ่อน้ำพุทุกแห่งของที่นี่เต็มไปด้วยแร่ธาตุที่ ต่างกัน

 

เราออกเดินทางจากเมืองชิมาบาระโดยนั่งเรือเฟอร์รี่ จุดหมายคือเมืองคุมาโมโต้ ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีก็มาถึงท่าเรือจังหวัดคุมาโมโต้ บ้านของ “คุมะมง” ตัวการ์ตูนชื่อดังของคิวชู ปัจจุบันคุมะมงยังเป็นสัญลักษณ์ในการออกงานต่างๆ ของญี่ปุ่น

ก่อนปิดท้ายด้วยอาหารเย็น ที่ร้าน Shinsei ชิมเมนูเนื้อวัว ผักดอง ขนมจีบเนื้อวัว เต้าหู้ซอส เนื้อวัวผัดใส่ผงกะหรี่ รสชาติกลมกล่อม

“คิวชู” ถือเป็นอีกหนึ่งอันซีนของญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน