ทิ้งท้ายการละเล่นว่าวของอาเซียนกับวิธีทำและว่าวชนิดต่างๆ ของไทย

เริ่มจากอุปกรณ์จำเป็น ได้แก่ ไม้ไผ่ กระดาษสาบางหรือผ้าบาง เชือกป่าน กาวแป้งเปียก มีดเหลาไม้ไผ่ กรรไกรตัดกระดาษ พู่กันและสี โครงว่าวส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้ไผ่เพราะมีความยืดหยุ่น เหนียว และทนแรงลม นำไปผ่าซีกและผึ่งแดด เหลาให้มีขนาดพอเหมาะ จากนั้นนำสายป่านหรือเชือกผูกกับไม้ และสุดท้ายใช้กระดาษสาตัดเป็นรูปร่างต่างๆ ปิดโครงว่าวและตกแต่งให้สวยงาม

ข้อมูลจากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนระบุว่า “ว่าวจุฬา” ที่ขึ้นชื่อเป็นว่าวประจำชาติ มีรูปร่างเหมือนดาว 5 แฉก หรือมะเฟืองผ่าฝาน สามารถบังคับให้เคลื่อนไหวในท่าต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว ในกีฬาว่าวถือว่าว่าวจุฬาเป็นว่าวตัวผู้ ขณะที่ว่าวปักเป้าเป็นว่าวตัวเมีย ว่าวจุฬามีอาวุธประจำตัวติดอยู่ตรงสายว่าวเรียกว่าจำปา ใช้สำหรับเกี่ยวเหนียง หาง และสายป่านของว่าวปักเป้า

ส่วน “ว่าวปักเป้า” ถือเป็นเอกลักษณ์ของว่าวภาคกลาง มีโครงรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีหางยาวถ่วงที่ปลาย และมีอาวุธเรียกว่าเหนียง ขณะลอยอยู่ในอากาศจะส่ายไปส่ายมา โฉบเฉี่ยวในท่าต่างๆ ได้ฉับไว

“ว่าวอีลุ้ม” คล้ายว่าวปักเป้าแต่ปลายปีก 2 ข้างติดพู่กระดาษเพื่อช่วยทรงตัว การเล่นว่าวอีลุ้มของภาคกลางพัฒนาเป็นการเล่นว่าวสายป่านคมซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากอินเดีย

ขณะที่ “ว่าวงู” นิยมเล่นทั่วทุกภาคเพราะทำง่าย ส่วนหัวรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู แต่ด้านบนโค้งมนคล้ายงูแผ่แม่เบี้ย หางทำจากกระดาษย่นยาว ว่าวงูเป็นว่าวแผงที่ขึ้นง่ายที่สุดเพราะมีหางถ่วงให้ขึ้น

นอกจากนี้ยังมีว่าว ดุ๊ยดุ่ย ว่าวหัวแตก ว่าวเต่า ว่าวใบไม้ ว่าวประทุน ว่าวคากตี่ ว่าวแมลงวันหัวเขียว ว่าวปลาปีกแอ่น ว่าวปลา ว่าวควาย ว่าวอีแพรด ว่าวนกยูง ว่าวผีเสื้อ ว่าวกินรี ว่าวหัวผลุบโผล่ และว่าวหัวโต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน