วันนี้ปริมาณขยะที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (สพฐ.) ตระหนักถึงวิกฤตของปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

จึงมีนโยบายให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมเพื่อปลูกฝังวินัยบริหารจัดการขยะ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่นักเรียน ให้เกิดเป็นจิตสำนึก เป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยไร้ขยะโดยเริ่มต้นจากโรงเรียน

โรงเรียนเมืองกระบี่ จ.กระบี่ นับเป็นโรงเรียนตัวอย่างของการเป็นโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษา ที่เกิดจากความพร้อมเพรียงและความร่วมมือของทุกคน ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู นักเรียน บุคลากรทุกคน รวมถึงชุมชน ท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง สิ่งแวดล้อมศึกษา ที่สำคัญทุกคนมีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง

นายวสันต์ ปัญญา ผอ.โรงเรียนเมืองกระบี่ กล่าวว่า เนื่องจากโรงเรียนเมืองกระบี่เป็นโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Eco-school) มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาที่จะให้ความรู้ ให้ทักษะ ประสบการณ์ แก่เด็กเยาวชน จากแผนการเรียนรู้ไปสู่การความสำเร็จได้นั้น โดยใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา 7 ขั้นตอนในการจัดกิจกรรม

กรณีปัญหาน้ำเสียในชุมชน ซึ่งเด็กๆ ได้ลงเก็บข้อมูลจนพบว่า เนื่องจากเมืองกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยว ทุกสิ่งอย่างต้องเป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว น้ำธรรมชาติต้องสะอาด แต่ปัญหาน้ำเสียจากบ้านเรือน โรงงาน และโรงเรียน จะไหลลงสู่คลอง เด็กๆ จึงนำข้อมูลกลับมาจำลองสังคมในโรงเรียนให้เป็นเมืองจำลอง ว่าจะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร

ขณะที่ ครูอมรทัต เอียดศรีชาย ครูสอนสิ่งแวดล้อมศึกษามิติวิทยาศาสตร์ เล่าถึงการจัดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา โดยใช้บันได 7 ขั้น โดยเริ่มต้นจากการสำรวจเพื่อหาประเด็นเรียนรู้ ด้วยการวิเคราะห์ระบบนิเวศเพื่อดูว่าพื้นที่นี้มีลักษณะ ภูมินิเวศอย่างไร

ขั้นที่ 2 เป็นความรู้ฐานซึ่งนักเรียนต้องไปค้นหาว่าความรู้ของประเด็นเรียนรู้คืออะไร ซึ่งส่วนมากจะหาได้จากปราชญ์ท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือการสืบค้นข้อมูลจากหนังสือหรืออินเตอร์เน็ต

ขั้นที่ 3 การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชื่อมโยง

และขั้นที่ 4 นำไปสู่การเรียนรู้สถานการณ์ จากนั้นไปสู่ขั้นที่ 5 การวางแผน ขั้นที่ 6 เป็นการลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ และขั้นที่ 7 การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป เผยแพร่ให้แก่สังคม เพื่อนโรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ด้าน ครูอรนุช แก้ววิเศษ ครูสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา มิติสังคม กล่าวถึงการนำหลอดน้ำดื่มมาทำเป็นไส้หมอนว่า โรงเรียนมีฐานการเรียนรู้ธนาคารขยะ แต่ความสำเร็จของธนาคารขยะไม่ใช่ทำอย่างไรให้ได้เงินจำนวนมาก แต่เป็นเรื่องของการลดปริมาณขยะและนำขยะมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดมากกว่า นักเรียนจึงนำปัญหานี้เข้าสู่กระบวนการบันได 7 ขั้น พบงานวิจัยว่า

หลอดมีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ ไม่จับฝุ่น ซักล้างได้ จึงคัดแยกหลอดแล้วนำไปล้าง ตัด เพื่อทำเป็นไส้หมอนทั้งหมอนหนุน หมอนอิง โดยมีการออกแบบเพื่อความสวยงามและสะดวกในการใช้งาน เมื่อนำไปทดลองให้ผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุใช้ ปรากฏว่าได้ผลดี สามารถลดปัญหาแผลกดทับได้ และหมอนยังมีความยืดหยุ่นและระบายอากาศได้ดีด้วย

ขณะนี้เด็กได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการบันไดขั้นที่ 7 แล้ว นั่นคือการขยายผลสู่ชุมชน โดยกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนี้ เด็กๆ ยังสามารถนำไปต่อยอดสู่การเป็นอาชีพในอนาคตได้อีกด้วย

“มาร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน