36 ปีที่ทั่วโลกเริ่มรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีอย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 ณ เวลานี้เราเดินทางมาถึงจุดไหนแล้ว

ข่าวดีคือ จำนวนประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงขึ้น จากเดิมมีเพียง 7 ประเทศจากทั้งหมด 173 ประเทศทั่วโลก เพิ่มเป็น 127 ประเทศภายในระยะเวลา 25 ปี

อย่างไรก็ตาม “กฎหมายคุ้มครอง” ไม่ใช่สิ่งที่สามารถขจัดความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงได้ทั้งหมด ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงไม่ได้แค่สร้างความเจ็บปวดให้ผู้หญิงที่โดนทำร้ายเท่านั้น แต่ความเจ็บปวดนี้ยังส่งผล กระทบไปยังคนทุกเพศทุกวัยในสังคม กระเทือนถึงรากลึกทัศนคติแห่งการใช้ชีวิตของผู้คนในเรื่องสิทธิความเท่าเทียม ไปจนถึงสั่นคลอนเศรษฐกิจระดับชาติ

เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งถูกทำร้ายไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม สร้างบาดแผลแก่ร่างกายและจิตใจของพวกเธอจนกระทั่งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จึงทำให้มีรายได้ลดน้อยลงไปด้วย บาดแผลนี้ถูกส่งต่อไปยังคนในครอบครัว โดยเฉพาะลูกของพวกเธอจะซึมซับความรุนแรงไปโดยไม่รู้ตัว

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเก็บข้อมูลสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในรอบปี 2559 โดยการรวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์ในปี 2559 จำนวน 13 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 466 ข่าว

โดยพบว่า ส่วนใหญ่สามีกระทำต่อภรรยา ร้อยละ 71.8 นอกจากนี้ยังพบว่าข่าวความรุนแรงทางเพศของคนในครอบ ครัวมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นมากที่สุด ร้อยละ 33.3 รองลงมาคือ ข่าวการฆ่ากัน ร้อยละ 21.2 และข่าวทำร้ายกัน ร้อยละ 14.8 นอกจากนี้ยังพบมูลเหตุที่ทำให้เกิดกรณีข่าวสามีฆ่าภรรยามาจากการหึงหวง ระแวง ฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนดี ร้อยละ 78.6

ในการรายงานข้อมูลสถาน การณ์นี้ใช้ชื่อ ตอน ความรุนแรง “ฆ่า” ครอบครัว เพื่อขุดลึกถึงต้นตอของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง พบว่า ทัศนคติแบบ “ชายเป็นใหญ่” เปลี่ยน “บ้าน” ให้เป็น “เวทีมวย” ด้วยแรงกระตุ้นจากเครื่องดื่มมึนเมาและสารเสพติด โดยมีมูลเหตุหลักจากความหึงหวง

ทัศนคติแบบ “ชายเป็นใหญ่” ทำให้ผู้ชายบางคนมองภรรยาตัวเองเป็นสมบัติในครอบครองที่สามารถใช้อำนาจเหนือและปฏิบัติกับเธออย่างไรก็ได้ โดยทัศนคติแบบ “ชายเป็นใหญ่” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในความคิดของผู้ชายเท่านั้น แต่เป็นทัศนคติที่อยู่ในความคิดของผู้หญิงด้วยเช่นกัน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในที่สุด ความคิดและทัศนคติเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง

 

จึงเป็นที่มาของแคมเปญรณรงค์ในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลในวันที่ 25 พฤศจิกายน โดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ เจ.วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย” ต้องการปลุกกระแสสังคม “#ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง” จี้จุดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชาย ผ่านกีฬามวยไทยซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมที่ผู้ชายชื่นชอบ

โดยต้องการสื่อสารว่า ผู้ชายต้องล้อมกรอบความรุนแรงด้วยเชือกเส้นหนา 3 เส้น บนสังเวียนมวยที่มีกติกา และอย่านำความรุนแรงกลับไปที่บ้าน ในขณะที่ผู้หญิงเองเมื่อถูกกระทำความรุนแรงต้องกล้าลุกออกมาสื่อสารกับสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่สุดคือการปลูกฝังทัศนคติความเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ให้กับทุกคนในสังคมว่าความรุนแรงในครอบ ครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นประเด็นปัญหาระดับมนุษย ชาติที่สั่นสะเทือนทุกมิติระดับโลก และทุกคนล้วนมีส่วนในการยุติปัญหาความรุนแรง

คนที่เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ไม่ได้หมายถึง ผู้กระทำความรุนแรงเพียงเท่านั้น แต่คนคนนั้นหมายถึงพวกเราทุกคนที่มีทัศนคติและความคิดบางอย่างที่มีส่วนขยายหรือซ้ำเติมต่อปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ชมภาพยนตร์โฆษณาชุด “บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย” ได้ที่ https://goo.gl/iiVRFW หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แล้วมาร่วมกันชูป้าย “บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย #ผู้ชายไม่ทําร้ายผู้หญิง” ที่คุณเขียนขึ้นและโพสต์ลงโซเชี่ยลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #ผู้ชายไม่ทําร้ายผู้หญิง ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน

“เพราะเราคงไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก” สายด่วนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โทร. 0-2513-2889

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน