การวิ่งของ “ตูน บอดี้สแลม” ตอนนี้นอกจากเป็นเรื่องระดมทุนการกุศลแล้ว ยังให้แรงบันดาลใจและส่งเสริมการออกกำลังกายสำหรับทุกคน

เพราะการวิ่งทำได้ง่ายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ทั้งในด้านการเพิ่มความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและการลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตโดยเฉพาะจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาทางสุขภาพที่คุกคามผู้คนในยุคปัจจุบันในรอบหลายปีที่ผ่านมา การวิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประชาชนทุกเพศทุกวัย

สำหรับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยเครือข่ายชมรมเดินวิ่งทั่วประเทศ และภาคีที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จัดโครงการวันนักวิ่งเพื่อสุขภาพไทย : Thai Health Day Run เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายด้วยการวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดี

โครงการนี้กระตุ้นให้เกิดนักวิ่งหน้าใหม่ที่อาศัยการวิ่งเป็นการออกกำลังกายจำนวนมาก ภายใต้คำขวัญ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” (Run for New Life) โดยเชิญชวนให้ประชาชนใช้การวิ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง

ในปีนี้เอง สสส. ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่ายสุขภาพ จัดงานแถลงข่าวกิจกรรม วิ่งสู่ชีวิตใหม่ “ไทย เฮลท์ เดย์ รัน 2017” (Thai Health Day Run 2017) ครั้งที่ 6 โดยมี ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในการแถลงข่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การเดินวิ่งเป็นกิจกรรมทางกายที่ได้รับความนิยมมาก และงานวิ่งสู่ชีวิตใหม่ “ไทย เฮลท์ เดย์ รัน 2017” โดยงานวิ่ง “ไทย เฮลท์ เดย์ รัน 2017” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ย. บริเวณสะพานพระราม 8

ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ออกกำลังกายเป็นวิถีชีวิตอย่างต่อเนื่อง

การที่ประชาชนตระหนักในสุขภาพ และความร่วมมือสนับสนุนของทุกภาคส่วน เชื่อว่าจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายระดับชาติ ในการเพิ่มจำนวนคนไทยที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอหรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรภายในปี 2564

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ในปี 2559 ประเทศไทยมีประชากรที่มีกิจกรรมทางกายด้วยการวิ่งราว 12 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านคนเมื่อปี 2555 โดยสอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกาย ร้อยละ 70.9 ในปี 2559 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับสถิติของ ปี 2555

สำหรับงาน วิ่งสู่ชีวิตใหม่ “ไทย เฮลท์ เดย์ รัน 2017” สสส. และสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย มีความพยายามในการยกระดับมาตรฐานการจัดงานวิ่งสู่มาตรฐานสากล โดยเน้นความปลอดภัยและความยุติธรรมในการจัดการแข่งขัน

น้องธันย์ ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ บอกว่า “หลังจากที่ประสบอุบัติเหตุรถไฟฟ้า MRT ที่สิงคโปร์ ทับขาทั้งสองข้างจนต้องถูกตัดขา ตอนแรกตนไม่กล้าเดินใช้ชีวิตแบบปกติ แม้จะใส่ขาเทียม ธันย์จะเดินแค่อยู่ในห้องฟิตเนสเท่านั้น ไม่ค่อยกล้าออกมาเดินจริงๆ ที่พื้นที่ข้างนอกเท่าไหร่ แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีคนมาชวนให้วิ่ง โดยเริ่มจาก 2.5 ก.ม.

ตอนแรกก็กังวลว่าจะไหวมั้ย เพราะกลัวจะเจ็บขา แต่ตัดสินใจลงวิ่ง เพราะอยากกล้าเดินในชีวิตประจำวันมากขึ้น เมื่อเริ่มแรกจึงมีนักกายภาพกับคุณพ่อเดินไปพร้อมกัน ซึ่งพี่นักกายภาพก็เข็นรถเข็นตามตลอด ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกเจ็บก็หยุดแล้วนั่งรถเข็นได้ทันที แต่ตนก็วิ่งจนจบ ตอนที่เข้าเส้นชัยมีคนรอให้กำลังใจเยอะมาก รู้สึกดีมากๆ หลังจากนั้นทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น กล้าที่จะเดินในการใช้ชีวิตปกติมากขึ้น ได้รับมิตรภาพดีๆ จากการลงวิ่งมากมาย นั่นคือสิ่งที่ธันย์ได้รับ”

การจัดงาน Thai Health Day Run 2017 ในปีนี้ ถือว่ามีความพร้อมอย่างมาก ทั้งการเตรียมการสู่การแข่งขัน และการจัดกิจกรรมก่อนและหลังการแข่งขัน คาดว่ามีนักวิ่งร่วมงานราว 8,000 คน ประเภทการแข่งขัน มี 2 ระยะทางคือ 10 ก.ม. (สำหรับอายุ 15 ปีขึ้นไป) 3 ก.ม. (สำหรับอายุต่ำกว่า 14 ปี) โดย ระยะ 5 ก.ม. 3 ก.ม. ไม่มีการแข่งขัน จำกัดเวลาไม่เกิน 2.30 ชั่วโมง

นักวิ่งทุกระยะจะได้รับเสื้อและเหรียญที่ระลึก พร้อมชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รุ่นไม่จำกัดอายุ ชาย-หญิง แผนที่เส้นทางวิ่ง แบ่งออกเป็น 3 ระยะทาง ได้แก่ 10 ก.ม. 5 ก.ม. และ 3 ก.ม. โดยมีจุดปล่อยตัวนักวิ่ง ที่บริเวณบนสะพานพระราม 8 และเส้นชัยที่สะพานพระราม 8

นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการมีกิจกรรมทางกาย และออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ ตลอดจนนิทรรศการสร้างเสริมสุขภาพ จากภาคีเครือข่าย สสส. อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน