กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-com municable Diseases-NCDs) คือ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรค เบาหวาน โรคทางเดินหายใจเรื้อรังเป็นประเด็นที่โลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอย่างมาก พฤติกรรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมี 4 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ การขาดกิจกรรมทางกาย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะทางสุขภาพที่มีความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงต่อโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงน้ำตาลในเลือดสูง ความเสี่ยงต่อ ไขมันในเลือดสูง

การป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกลุ่มไม่ติดต่อและการ ส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพ จึงมีความสำคัญในบริบทของระบบสุขภาพทั่วโลก เพื่อให้เกิดแนวทางการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ครอบคลุมในทุกมิติ ถือเป็นวิกฤตที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกในแต่ละสถานการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจึงเกิดเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งลดอัตราการเสียชีวิตดังกล่าวลงภายในปี 2573

ดังนั้น องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อภายใต้บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในวันที่ 9-11 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 130 คน จาก 11 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพและการลดปัจจัยเสี่ยงหลักที่นำไปสู่ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผ่านชุดมาตรการที่คุ้มทุนและเหมาะสมกับบริบทแต่ละประเทศรวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายด้านการจัดการ NCDs ระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกล สัตยาทร รมว.สาธารณสุข และรองประธานกรรมการ สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนับเป็นวิกฤตที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ในแต่ละปีมีประชากรมากถึง 16 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจ ปอด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์มาจากประชากรในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง อย่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก

เป็นที่มาของการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ซึ่งการป้องกันและควบคุมต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในทุกระดับ ตั้งแต่นโยบายไปจนถึงประชาชน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งในและนอกภาคสาธารณสุข เน้นมาตรการที่คุ้มทุนและมีประสิทธิผล หรือที่เรียกว่า “Best Buys” รวมถึงการมีกลไกสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ได้แก่ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและกลไกทางการเงินรูปแบบใหม่ เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ 3 ระดับ

คือ 1.ระดับนโยบาย นำโดยกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรสุขภาพที่ไปในทิศทางเดียวกัน 2.ระบบสุขภาพโดยยกระดับการให้บริการของระบบสาธารณสุขมูลฐานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.ระดับสังคมเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน

“ประเทศไทยอัตราการเสียชีวิตจาก 4 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างโรคหัวใจ ปอด หลอดเลือดในสมอง มะเร็ง และเบาหวาน ที่ผ่านมารณรงค์การเก็บภาษีบาป เพิ่มภาษีเครื่องดื่มหวาน โดยมีความร่วมมือจากสสส. ภาคเอกชน และประชาสังคมช่วยรณรงค์ ทำให้องค์การอนามัยโลกประกาศให้ปีนี้มาตรการการดูแลและรณรงค์เรื่อง NCDs ของไทยได้คะแนนสูงขึ้นจากปี 2558 ที่ได้ 8 คะแนน โดยปีนี้ได้ 12 คะแนน จากคะแนนเต็ม 19 คะแนน ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีที่สุดในเอเชีย ใกล้เคียงกับฟินแลนด์ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความเสี่ยง ทำให้เป็นหมอของตัวเองเพื่อดูแลตัวเอง” รมว.สธ.กล่าว

ขณะที่ ดร.เดเนียล เคอร์เตส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาที่สำคัญมาก โดยคาดการณ์ว่าในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกมีประชากรราว 8.5 ล้านราย หรือเฉลี่ยวันละ 23,000 รายที่เสียชีวิตจาก NCDs ในแต่ละปี

ในส่วนประเทศไทยต้องขอชื่นชมสสส. สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ที่มีส่วนสำคัญผลักดันงานด้าน NCDs อย่างเข้มแข็ง ซึ่งการแก้ไขปัญหาของภูมิภาคนับว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามยังมีประชากรอย่างน้อย 130 ล้านคนในภูมิภาคที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็น ซึ่งคาดว่าจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาจะสูงกว่านี้ จึงไม่สามารถทอดทิ้งคนเหล่านี้ได้ สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ การยกระดับศักยภาพของสถานบริการระดับปฐมภูมิในการตรวจ รักษา และติดตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งการใช้ระบบสาธารณสุขมูลฐานเป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการปัญหา จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อ NCDs ครอบคลุมถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2568

NCDs ไม่ได้เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอันเนื่องมาจาก NCDs สร้างภาระต่อทรัพยากรของครัวเรือนและประเทศ อีกทั้งเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาประเทศอีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน