“รายงานพิเศษ”

จากข้อมูลสถิติสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขพบว่า สถานการณ์ป่วยและการเข้ารับการรักษาด้วยโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภาค

เมื่อเปรียบเทียบจากปี พ.ศ.2544 และปีพ.ศ.2555 พบว่าอัตราผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง มีเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า

โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้นโรคความดันโลหิตสูงร่วมกับโรคหลอดเลือดสมอง ยังเป็น 1 ใน 3 ลำดับแรกของสาเหตุการตาย

สำหรับโรคความดันโลหิตสูงเกิดจากหลายสาเหตุ สาเหตุสำคัญมาจากโรคอ้วน และการบริโภคโซเดียมมากเกินไป ส่วนภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั้นแสดงแนวโน้มต่อความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้มาก ซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป

จะเห็นได้ว่าสาเหตุแห่งโรคนั้นล้วนมาจากการบริโภคอาหารรสจัดจนเกินควรทั้งสิ้น

ดังนั้นคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) แถลงข่าว“ส่งความสุขด้วยผลิตภัณฑ์อาหารโอท็อป (OTOP) เพื่อสุขภาพ (ลดหวาน มัน เค็มเพิ่มผักผลไม้)” เพื่อสร้างความตระหนักและทางเลือกให้แก่ประชาชนในการรับประทานอาหารให้มากขึ้น

ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล และผู้จัดโครงการ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารโอท็อป เพื่อสุขภาพ มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโอท็อป ให้มีความรู้และทักษะในการผลิตอาหารให้กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลเพื่อสื่อสารกับประชาชนให้เกิดความรู้และเกิดการตระหนักด้านโภชนาการและการอ่านฉลากโภชนาการ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการบริโภคอาหารหวานมันเค็ม

“ขณะนี้ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารโอท็อป ในการนำผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของท้องถิ่นระดับ 4-5 ดาวมาพัฒนาและปรับปรุงส่วนประกอบโดยลดน้ำตาล โซเดียม และไขมันอิ่มตัวแต่ยังคงมีรสชาติอร่อย ออกวางจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค โดยในปี 2560 นี้ มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดน้ำตาลและโซเดียมได้ 15-45% พร้อมออกจำหน่ายแล้ว 32 รายการ” ผศ.ดร.เรวดีกล่าว

ด้าน รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ กรรมการและวิชาการสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ในอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันนั้นมีส่วนประกอบของหวาน มัน เค็ม อยู่แล้ว สามารถกินได้ แต่ให้กินอย่างพอดี ไม่ หวาน มัน เค็ม มากไป เพราะจะตามมาด้วยปัญหาสุขภาพมากมาย

เห็นได้ชัดเช่นถ้าเรากินเค็มได้รับโซเดียมในปริมาณที่มาก ตัวโซเดียมจะเข้าสู่เส้นเลือด ดูดน้ำจากร่างกายไป ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เราจะพบว่าเมื่อกินโซเดียมมาก เราจะหิวน้ำมาก เพราะเป็นกลไกของร่างกายที่ต้องหาน้ำมาทดแทน และเมื่อกินน้ำมาก ไตก็จะทำงานหนักขึ้นเพราะต้องจัดการกับน้ำที่มากในร่างกาย และกำจัดโซเดียมออกไป หรือการกินอาหารจำพวกไส้กรอก เราอาจจะคิดว่าไม่มีไขมัน ซึ่งไม่จริงเพราะยังคงมีไขมันจากเนื้อหมู เนื้อไก่ที่นำมาทำไส้กรอก จึงต้องกินแต่พอดีเช่นกัน

ดังนั้นที่ดีที่สุดคือแนะนำให้ประชาชนกินตามสูตร 6 6 1 คือกินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา

การลดบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็มนั้นไม่เพียงลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเท่านั้น เมื่อลดการเกิดโรคได้ จำนวนงบฯ ประเทศที่จะต้องนำไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็จะได้ลดลงอีกด้วย

หากปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ยังไม่รู้จะมอบอะไรเป็นของขวัญของฝาก อาจจะลองพิจารณาผลิตภัณฑ์อาหารโอท็อป เพื่อสุขภาพ เพื่อส่งความสุขและสุขภาพดีให้คนที่เราปรารถนาดี

ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน