น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

สวัสดีค่ะน้าชาติ อยากทราบประวัติการตั้งราชบัณฑิตยสถานเป็นความรู้

มณฑกานต์

ตอบ มณฑกานต์

ที่เรียกกันมาว่า ราชบัณฑิตยสถาน ปัจจุบันคือ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เข้าเว็บไซต์ http://www.royin.go.th/ มีบันทึกประวัติความเป็นมาว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2469 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้จัดตั้ง “ราชบัณฑิตยสภา” ขึ้น

ทรงเห็นสมควรฟื้นฟูกิจการ ของกรมราชบัณฑิตย์ซึ่งมีมาแต่โบราณ และเป็นตำแหน่งสำหรับทรงตั้งผู้มีความรู้ศาสตราคมไว้รับราชการ ต่อมาเมื่อพ.ศ.2476 สภาผู้แทนราษฎรได้ถวายคำปรึกษา สมควรจัดตั้งราชบัณฑิตยสถานให้มีสมาชิกผู้ประกอบด้วยคุณวิชาสมควรจะได้เลือกตั้งเป็น ราชบัณฑิตในภายหน้า

เพื่อกระทำการค้นคว้าหาความรู้นำมา เผยแพร่แก่ประชาชนและสร้างตำรับตำราให้แพร่หลายต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราชบัณฑิตยสถานขึ้นในปีเดียวกัน และให้ยกเลิกประกาศตั้งราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2469

เริ่มแรกที่ตั้งราชบัณฑิตยสถานนั้น ยังไม่มีราชบัณฑิต มีแต่ภาคีสมาชิก ซึ่งจัดการประชุมครั้งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2477 ภายหลังมีการออกพ.ร.บ.ว่าด้วยราชบัณฑิตย สถาน พ.ศ.2485 และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งราชบัณฑิตเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2485 จำนวน 51 คน

งานสำคัญในช่วงแรกเกิดจากพระราชดำริ คือการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กประจำปี ที่ราชบัณฑิตยสถานดำเนินการสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2477 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีงานหลักอีก 5 งาน ได้แก่ งานชำระพจนานุกรม ซึ่งเดิมคืองานชำระปทานุกรมที่รับโอนจากกระทรวงธรรมการมาตั้งแต่พ.ศ.2477 งานสารานุกรม งานบัญญัติศัพท์ภาษาไทย งานอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ และงานจัดทำหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน

ที่ทำการของราชบัณฑิตยสถานแรกเริ่มได้ใช้ตำหนักสมเด็จ ชั้นบน ณ วังบางขุนพรหม ต่อมาย้ายไปอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุ หรืออาคารหอสมุดวชิราวุธด้านทิศเหนือ ถนนหน้าพระธาตุ จากนั้นย้ายไปใช้อาคารราชวัลลภในพระบรมมหาราชวัง จนถึงปี 2549 ได้ย้ายมาอยู่ที่สนามเสือป่า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบัน

การดำเนินงานของราชบัณฑิตยสถาน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสภาราชบัณฑิต และส่วนข้าราชการประจำ โดยสภาราชบัณฑิต ทำหน้าที่วางนโยบายในการดำเนินงานด้านวิชาการ ประกอบด้วยกรรมการสภา ซึ่งเป็นราชบัณฑิตจาก 3 สำนัก

ได้แก่ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักวิทยาศาสตร์ และสำนักศิลปกรรม มีนายกราชบัณฑิตยสถานเป็นนายกสภา ส่วนข้าราชการประจำมีเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานเป็นหัวหน้าส่วนราชการ กำกับดูแลการปฏิบัติงานด้านวิชาการและงานธุรการของสำนักงานเลขานุการกรม กองธรรมศาสตร์และการเมือง กองวิทยาศาสตร์ และกองศิลปกรรม รวมทั้งประสานการดำเนินงานกับทุกสำนัก

การดำเนินงานด้านวิชาการ ดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการวิชาการเพื่อจัดประชุมพิจารณาศัพท์ บัญญัติศัพท์จัดทำคำอธิบายศัพท์ในสาขาวิชาต่างๆ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ทางภาษา แล้วนำผลงานซึ่งเป็นองค์ความรู้เผยแพร่สู่ประชาชนในช่องทางต่างๆ

ที่สำคัญราชบัณฑิตยสถานได้ดำเนินงานตามพันธกิจในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และบำรุงสรรพวิชามาอย่างต่อเนื่อง ผลงานทางวิชาการของราชบัณฑิตยสถานซึ่งเป็นที่รู้จักและใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและเป็นมาตรฐานในการเขียนหนังสือไทย ทั้งหนังสือราชการและในการศึกษาเล่าเรียนให้เป็นระเบียบเดียวกัน คือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ในปี 2556 ราชบัณฑิตยสภาโดยสภาราชบัณฑิตเห็นเป็นการสมควรเปลี่ยนชื่อราชบัณฑิตยสถาน เป็นราชบัณฑิตยสภา อันเป็นชื่อเดิมที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาส 120 ปีพระบรมราชสมภพ

ต่อมาปี 2558 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าเป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน ทรงให้ตราพ.ร.บ.ราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 ชื่อหน่วยงานราชบัณฑิตยสถาน จึงเปลี่ยนเป็นสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และสภาราชบัณฑิต เปลี่ยนเป็นราชบัณฑิตยสภา

สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีอำนาจหน้าที่ เช่น ค้นคว้า วิจัย บำรุงสรรพวิชา แล้วนำผลงานที่ได้สร้างสรรค์ออกเผยแพร่ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน การดำเนินงานเกี่ยวกับการทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่างๆ รวมทั้งการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และงานวิชาการอื่นๆ ทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย การอนุรักษ์ภาษาไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน