สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ฯ ร่วมกับ บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง มูลนิธิพิทักษ์สตรี และมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม จัดกิจกรรมปลุกพลังใจ การแสดงละคร พร้อมเปิดเวทีรับฟังเสียงของกลุ่มผู้หญิงที่เผชิญปัญหาความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว ที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เมื่อไม่นานนี้

จากนั้นกลุ่มผู้หญิงที่ประสบปัญหายื่นข้อเสนอต่อนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อเสนอความต้องการสู่แนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรง

นางณัฐิยา ทองศรีเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง กล่าวว่า จากข้อมูลบ้านพักฉุกเฉินฯ แต่ละปีพบว่ามีผู้หญิงที่ถูกกระทำ ส่วนใหญ่มาจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ส่งผลต่อปัญหาท้องไม่พร้อม การติดเชื้อเอชไอวี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทุกๆ 1 ปีจะเข้ามาที่บ้านพักประมาณ 300 ราย

“ปัญหาความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ส่วนมากไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาเนื่องจากขาดที่พึ่งที่ปลอดภัย เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงยากที่จะแก้ปัญหาได้ บางรายไม่กล้าแจ้งความเพราะอาย กลัว ถูกข่มขู่ หลายรายเมื่อขึ้นโรงพักตำรวจแค่ลงบันทึกประจำวันแล้วให้กลับบ้าน พ้นโรงพักก็เกิดความรุนแรงอีก” นางณัฐิยากล่าว

เด็กหญิงเอ (นามสมมติ) อายุ 13 ปี ผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ หนึ่งในสมาชิกบ้านพักฉุกเฉินฯกล่าวว่า ตนเองเป็นคนต่างจังหวัด ครอบครัวแตกแยก เติบโตมากับตาและยาย จากนั้นย้ายมาอาศัยอยู่กับพ่อในกทม. เป็นห้องพักแคมป์คนงานก่อสร้าง กระทั่งคนร้ายอาศัยจังหวะที่พ่อและแม่เลี้ยงไม่อยู่ เข้ามาล่วงละเมิดทางเพศและข่มขู่ไม่ให้ไปบอกใคร เมื่อพ่อทราบเรื่องก็พาไปแจ้งความที่สน.แห่งหนึ่ง ตำรวจลงบันทึกประจำวัน ตอนนี้ผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้วยังไม่คืบหน้า

“14 ต.ค. วันที่หนูไปแจ้งความ ตำรวจมีกิริยาที่ไม่เหมาะสม เช่น ทุบโต๊ะ ตะคอก ชักสีหน้าไม่พอใจ เหมือนไม่เต็มใจทำคดี แม้แต่ส่งตัวไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลยังไม่มีพนักงานพาหนูไป หนูกับพ่อต้องเดินทางไปเองแล้วไปบอกพยาบาลว่าหนูถูกข่มขืนมา ซึ่งหนูมีความรู้สึกแย่มาก มันไม่เหมาะสมที่ต้องไปเล่าเรื่องราวที่เจอมาซ้ำอีก

หนูท้อใจ ทำอะไรไม่ถูก ทั้งอาย ทั้งหวาดกลัว เครียด หนูอยากฝากผ่านไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนว่าควรเต็มใจช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ ไม่ควรโวยวาย แต่ควรเป็นมิตร เพราะสิ่งที่ผู้เสียหายเจอมาก็แย่พอแล้ว มันกระทบจิตใจมาก และอยากให้คดีคืบหน้า จับตัวคนร้ายให้ได้ และขอให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงกล้าลุกขึ้นมาสู้ เข้มแข็ง อย่ากลัว” เด็กหญิงเอกล่าว

ขณะที่นางสาวบี (นามสมมติ) อายุ 36 ปี ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเล่าว่า ตนเองถูกพี่ชายแท้ๆ ล่วงละเมิดทางเพศตอนอายุ 14 ปี เมื่อไปเล่าให้พ่อแม่ฟังก็ไม่มีใครเชื่อ จนเกิดปากเสียงทะเลาะกับแม่ ทนไม่ไหวต้องหนีออกจากบ้านมาอาศัยอยู่กับญาติและเพื่อน

จากนั้นใช้ชีวิตเพียงลำพังจนมาเจอกับผู้ชายที่คิดว่าเขาจะรักเราดูแลเราได้ แต่ก็ผิดหวังอีกครั้ง เมื่อเราตั้งครรภ์แต่เขาไม่รับผิดชอบ จนต้องแยกทางกัน ตอนนี้ลูกอายุได้ 4 ขวบ กลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จึงมาขอความช่วยเหลือและอาศัยอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินฯ

“ลองคิดภาพว่าเด็ก 14 กำลังเริ่มเป็นสาว เข้าวัยที่สดใส พอมาเจอเหตุการณ์เลวร้ายพี่ชายแท้ๆ ข่มขืน มันซึมลึกติดตาจำได้ไม่ลืม มีคำถามมาตลอดว่าทำไมแม่ไม่ปกป้องเรา ทำไมไม่มีใครเชื่อเรา ทำไมทุกคนยอมให้เราออกจากบ้าน ต้องมาเผชิญชะตากรรมตัวคนเดียว มันยากที่จะทำใจ

แต่สิ่งที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ตอนนี้คือกำลังใจจากลูก รู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาสู้ ต้องอยู่เพื่อลูก อยากบอกสังคมว่าความรุนแรงในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นเรื่องใหญ่ คนที่เจอแบบนี้ต้องออกมาขอความช่วยเหลือ

ส่วนภาครัฐควรมีการช่วยเหลือที่ถาวร สนับสนุนในเรื่องอาชีพและสวัสดิการอื่นๆ เพื่อให้ผู้เสียหายลักษณะนี้ยืนด้วยตัวเองในสังคมได้” นางสาวบีกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน