“มัณฑนา ชอุ่มผล”

ในพื้นที่อากาศหนาวเย็นแบบที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ถ้าหากมีสักที่ได้จิบกาแฟอุ่นๆ รสชาติและกลิ่นละมุน คงเป็นสวรรค์ของนักเดินทาง แต่จะพิเศษกว่าไหมถ้าคนชงกาแฟทั้งหมดเป็นเด็กตัวน้อยๆ

“กาแฟของโพส่าโฮ มีกาแฟดริปเป็นแบบคั่วอ่อน การเฟรนซ์เพรสเป็นแบบคั่วกลาง และมอคค่าพอทเป็นแบบคั่วเข้มครับ” เอ็ดดี้ ด.ช.สุรนันท์ บุญชูรักษา บาริสต้าน้อย ชั้น ป.6 แนะนำกาแฟเมนูต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว

“โพส่าโฮ” (Posaho) คือภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า “เด็กน้อย” เป็นชื่อร้านกาแฟของเด็กๆ โรงเรียนบ้านหัวแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ในชุมชนชาวปกาเกอะญอ ชื่อร้านจึงเป็นภาษาพื้นเมืองที่เด็กๆ และคุณครูลงมติกันว่าเหมาะสมที่สุด เด็กๆ บาริสต้าหรือนักชงกาแฟ กับคุณครูได้ไปอบรมการชงกาแฟจนได้ใบประกาศมาติดร้าน จึงรับรองว่ากาแฟที่เด็กๆ ชงนั้นอร่อยและได้มาตรฐาน

“ตอนแรกก็ชงกาแฟไม่เป็นและคิดว่ายากค่ะ แต่พอไปเรียนก็ชงเป็นและทำมาเรื่อยๆ ก็เก่งขึ้น เวลาลูกค้ากินแล้วบอกว่าอร่อยหนูภูมิใจมากค่ะ” น้องดา ด.ญ.ชฎารัตน์ รุ่งแสงส่องอำไพ บาริสต้าชั้นป.4 กล่าวอย่างแจ่มใส

เมื่อคุณครูและเด็กๆ ตัวแทนได้ไปอบรมการชงกาแฟและเลือกเมล็ดกาแฟมาแล้ว จึงนำมาถ่ายทอดต่อให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนแบบรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง เพราะร้านกาแฟแห่งนี้เปิดแค่ระยะเวลาเพียงเดือนครึ่ง ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคมเท่านั้น โดยเปิดพร้อมๆ กับเทศกาลดอกบัวตองบาน ที่ดอยแม่อูคอ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน ช่วงนี้เองที่มีนักท่องเที่ยวผ่านไปมาแวะเพื่อพักสายตาจากทางที่คดโค้งถึง 1,864 โค้ง ร้านกาแฟโพส่าโฮจึงเป็นเสมือนห้องเรียนวิชาชีพที่ทดลองให้เด็กๆ วัยประถมฝึกความรับผิดชอบปีละครั้งกับสถานการณ์จริง

“ที่ตั้งของร้านคนในชุมชนหาให้ค่ะ เป็นที่นาของครอบครัวเอ็ดดี้ นักชงกาแฟและเพื่อนนักเรียน เพราะเห็นว่าวิวเป็นนาขั้นบันไดที่สวยมากค่ะ การออกแบบสร้างร้านนี้ก็ผู้ปกครองกับโรงเรียนช่วยกันทำแบบชาวบ้าน ปูพื้นด้วยไม้ไผ่แบบปกาเกอะญอ รับน้ำหนักได้ครั้งละไม่เกิน 20 คนค่ะ” ครูโอ๋ ศศิธร บุญใบ กล่าวถึงความร่วมมือกันของชุมชนและโรงเรียนในการเปิดร้านกาแฟแห่งนี้

กาแฟแม้จะไม่ใช่สิ่งที่เด็กๆ ชอบดื่มเพราะมีรสขม แต่สิ่งที่ชุมชนและโรงเรียนบ้านหัวแม่สุรินอยากจะปลูกฝังก็คือให้เด็กๆ รักกาแฟ เพราะกาแฟเป็นหนึ่งในสินค้าการเกษตรที่ ผู้ปกครองของเด็กๆ ปลูกและส่งออกไปขายให้กับคนนอกชุมชนทุกปี ความฝันหนึ่งของชุมชนคืออยากให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้และพัฒนาสินค้าของชุมชนตนเอง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในอนาคตเด็กๆ จะได้ไม่ต้องไปหาอาชีพที่ห่างไกลชุมชนตนเอง

“ชุมชนแถวนี้เป็นแหล่งปลูกกาแฟอารา บิกาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยครับ เพราะอยู่ในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,250 เมตร กาแฟก็คุณภาพดีมาก แต่เราไม่สามารถคั่วเองได้เนื่องจากเครื่องคั่วกาแฟที่ได้มาตรฐานแพงมาก จึงได้แต่ส่งออกเมล็ดกาแฟให้คนข้างนอกไปออกแบรนด์ของเขา เราก็หวังว่าเด็กๆ จะรักกาแฟและสามารถพัฒนาเป็นอาชีพให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนครับ” การุณ คำสวัสดิ์ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกล่าวขณะสอนเด็กๆ ให้รู้จักเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ต่างๆ ของบ้านตัวเอง

ร้านกาแฟโพส่าโฮ จึงไม่ใช่แค่การพัฒนาวิชาชีพให้เด็กๆ แต่ยังสอนเด็กๆ ให้รู้จักคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน และปลูกฝังทีละน้อยให้เด็กๆ รักในเมล็ดกาแฟของตน

ติดตามเรื่องราวของเด็กๆ ชงกาแฟในรายการทุ่งแสงตะวันตอน “โพส่าโฮ กาแฟเด็กน้อย” วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคมนี้ เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 และช่อง 33

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน