ในเวียดนามเรียกฆ้องว่า “ก็อง” สำหรับวงหญ่าหญัก หรือวงดนตรีดั้งเดิม มีฆ้องที่นิยมใช้ 2 ชนิด ได้แก่ “ก็อง เจียน” ฆ้องเดี่ยวขนาดใหญ่ มีทั้งแบบฆ้องปุ่ม และฆ้องแบน อีกชนิดคือ “ต๋าม อาม หลา” เป็นชุดฆ้องแบนขนาดเล็ก 3 ลูก ประกอบเข้ากับโครงไม้

นอกจากดนตรีดั้งเดิมแล้ว ฆ้องยังมีบทบาทต่อดนตรีพื้นบ้านของเวียดนามด้วย ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่หมู่บ้านชนเผ่าเอเด ทางตอนกลางของประเทศ จะครึกครื้นไปด้วยเสียงดนตรีของฆ้องในชื่อ “เจอ ฮอ” วงฆ้องเสียงใสกังวานจำนวน 6 ใบที่ชนเผ่าเอเดแบ่งเป็น 3 คู่คือ ฆ้องแม่ ฆ้องพ่อ และ ฆ้องลูก

ส่วนชนเผ่าเหมื่องในจังหวัดกว่า บินห์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ขึ้นชื่อเป็นชนเผ่าที่มีใจรักในเสียงดนตรี ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันหรือช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญ ชาวเหมื่องเป็นต้องร้องรำ ทำเพลง และตี “ก็อง เหมื่อง” ฆ้องทองแดงชุด 12 ลูก ไล่เรียงเสียงต่ำสูง ไม้ตีแบบแข็งทำจากเปลือกไม้ ส่วนไม้นวมทำจากหนัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน