น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ฉบับวานนี้ (11ธ.ค.) “นริศ” ถามถึงประวัติความเป็นมาขององค์พระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ เมื่อวานตอบถึงการสร้างและบูรณะไปแล้ว วันนี้ว่าด้วยคติความเชื่ออันเป็นที่มาขององค์พระเจดีย์หลวง

อ้างอิงข้อมูลจากวิกิพีเดีย จากเรื่องที่เล่าต่อกันมาว่า พวกลัวะเป็นผู้ก่อเจดีย์หลังหนึ่งสูง 3 ศอก ไว้เป็นที่สักการบูชาพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราชอัญเชิญมาพร้อมการเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ รวมทั้งภูมิภาคนี้ เจดีย์องค์เล็กสูง 3 ศอกนั้นสร้างขึ้น ณ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของเจดีย์หลวงปัจจุบัน

องค์พระเจดีย์ตามคติความเชื่อของชาวลัวะ ใช้ “อินทขิล” (เสาหลักเมือง ตำนานว่า พระอินทร์ประทานมาให้) เป็นสัญลักษณ์ ผสมผสานกับความเชื่อของพราหมณ์ ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก ได้ใช้พระธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล คตินี้เห็นได้ชัดจากการสร้างเจดีย์ให้สูงใหญ่ ตั้งอยู่กลางใจกลางเมือง เช่นเดียวกับเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล

คติเจดีย์หลวงในฐานะศูนย์กลางจักรวาล ปรากฏในคัมภีร์มหาทักษาเมือง กล่าวถึงการสร้างวัดสำคัญในเมืองเชียงใหม่ 9 แห่ง กำหนดให้สอดคล้องกับชัยภูมิและความเชื่อเรื่องทิศทั้ง 4 และทิศเฉียงอีก 4 เป็น 8 เมื่อทิศทั้ง 8 มาบรรจบกัน เกิดจุดศูนย์กลางรวมกันเป็น 9 ถือเป็นเลขมงคล ตำแหน่งจุดศูนย์กลางเมืองเป็นสะดือเมือง กำหนดให้เป็นเกตุเมืองตรงกับวัดเจดีย์หลวง

วัด 8 แห่งที่สร้างตามทักษาเมือง คือ บริวารเมือง ทิศตะวันตก (ปัจฉิม) วัดสวนดอก, อายุเมือง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ) วัดเจ็ดยอด, เดชเมือง ทิศเหนือ (อุดร) วัดเชียงยืน, ศรีเมือง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) วัดชัยศรีภูมิ, มูลเมือง ทิศวะวันออก (บูรพา) วัดบุพพาราม, อุตสาหเมือง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (อาคเนย์) วัดชัยมงคล, มนตรีเมือง ทิศใต้ (ทักษิณ) วัดนันทาราม และกาลกิณีเมือง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี) วัดตโปทาราม

สำหรับพระเจดีย์หลวงที่พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีทรงก่อสร้างต่อให้พระราชสวามีนั้น ทรงให้ยกฉัตรยอดมหาเจดีย์แล้วปิดด้วยทองคำ และนำแก้ว 3 ลูก ใส่ยอดมหาเจดีย์ไว้ ประดับด้วยโขงประตูที่มีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งในโขงทั้ง 4 ด้าน มีพญานาค 5 หัว 8 ตัว อยู่ใน 2 ข้างบันได ราชสีห์ 4 ตัว อยู่ตรงสี่มุมของมหาเจดีย์

และช้างค้ำรายล้อมรอบองค์เจดีย์หลวง 28 เชือก แต่ในประวัติศาสตร์มีเพียง 8 เชือกเท่านั้น ที่มีการตั้งชื่อให้เฉพาะ นับตามลำดับตั้งแต่ตัวที่อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เวียนมาตามทิศตะวันออก ดังนี้ เชือกที่ 1 เมฆบังวัน, เชือกที่ 2 ข่มพลแสน, เชือกที่ 3 ดาบแสนด้าม, เชือกที่ 4 หอกแสนลำ, เชือกที่ 5 ก๋องแสนแหล้ง, เชือกที่ 6 หน้าไม้แสนเปียง, เชือกที่ 7 แสนเขื่อนก๊าน และเชือกที่ 8 ไฟแสนเต๋า

การสร้างรูปปั้นช้างเป็นการส่งเสริมกำลังเมืองในทางไสยศาสตร์ เพื่อให้เมืองมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีพิธีการสักการบูชาพญาช้างทั้ง 8 เชือก เชื่อว่าจะทำให้เกิดสวัสดิมงคล นำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง ศัตรูไม่กล้ามารุกรานย่ำยีเมือง เพราะชื่อพญาช้างที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นพลังอำนาจก่อเกิดเดชานุภาพ อิทธิฤทธิ์ ข่มขู่ บดบัง ขวางกั้น กำจัด ปราบปรามอริราชศัตรูที่จะมารุกรานให้แพ้ภัยแตกพ่ายหนีไปเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน