ปินส์ช็อกป่าชายเลนอ่าวมะนิลา ขยะพลาสติกท่วมเป็นทะเล

ปินส์ช็อกป่าชายเลนอ่าวมะนิลา – วันที่ 5 ต.ค. เดอะการ์เดียนรายงานสถานการณ์วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่ป่าชายเลนและทะเลโคลนเมืองโนวาทัส บริเวณอ่าวมะนิลา เบย์ ประเทศฟิลิปปินส์ ว่าเต็มไปด้วยกองขยะพลาสติกมหาศาล สร้างความสะอิดสะเอียนให้นักสิ่งแวดล้อม

นายดิอุว์ส เดอ จีซุส นักชีววิทยาทางทะเลในฟิลิปปินส์ ผู้ถ่ายภาพและนำมาเผยแพร่ กล่าวว่า ปริมาณขยะที่พบนั้นมากถึงขนาดที่ทำให้รากของต้นโกงกางแทบไม่สามารถหายใจได้

ปินส์ช็อกป่าชายเลนอ่าวมะนิลา

รายงานระบุว่า ป่าชายเลนนั้นเป็นระบบนิเวศที่สำคัญ เพราะเป็นแหล่งอาหารให้บรรดานกที่ย้ายถิ่นฐาน ป้องกันน้ำท่วม และลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในต้นเหตุก่อปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน มีความสามารถในการดูดซับมากยิ่งกว่าป่าดิบชื้น

นางจานีนา กาสโตร สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์นกป่าและป่าชายเลน ระบุว่า ขยะเหล่านี้กำลังทำลายป่าโกงกางให้หมดไป เพราะไปปิดผิวดินทำให้รากหายใจ (pneumatophores) ของต้นโกงกางไม่สามารถหายใจได้ ส่งผลให้ต้นโกงกางอ่อนแอ และอาจตายไปได้

ป่าชายเลนและทะเลโคลนดังกล่าวเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่บริเวณอ่าวมะนิลา โดยบริเวณนี้ในอดีตเต็มไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ และไร่นาข้าวเขียวขจี แต่ถูกเมืองขยายเข้ากลืนกินจนเหลือป่าชายเลนอยู่เพียง 540 ตารางกิโลเมตร เมื่อคริสศตวรรษที่ 19

ปินส์ช็อกป่าชายเลนอ่าวมะนิลา

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บรรดากลุ่มนักอนุรักษ์และสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เข้าช่วยเหลือ แต่กระนั้นก็ป่าชายเลนบริเวณนี้ก็ยังลดลงเรื่อยๆ จนเหลือไม่ถึง 8 ตร.ก.ม. เมื่อปี 2538 ส่วนทางกับกรุงมะนิลาปัจจุบันที่เป็นหนึ่งในมหานครที่หนาแน่นที่สุดในโลก

นายจีซุส ระบุว่า ถ้าเพียงรัฐบาลห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ก็จะช่วยลดขยะพลาสติกเหล่านี้ลงไปได้มหาศาล พร้อมแสดงความเป็นห่วงถึงโครงการก่อสร้างขยายแผ่นดินของรัฐ ที่นำดินมาถมและเทคอนกรีตทับผืนดินออกไปในทะเล

ป่าชายเลนบริเวณนี้ยังเป็นแหล่งอาหารและจุดพักที่สำคัญของนกหายากหลายสายพันธุ์ตามเส้นทางอพยพย้ายถิ่นประจำปี โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง เอเชียน-ออสเตรเอเชียน ฟลายเวย์ ซึ่งมีระยะทางตั้งแต่คาบสมุทรอาร์กติกในรัสเซียและอเมริกาเหนือไปถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ปินส์ช็อกป่าชายเลนอ่าวมะนิลา

นกหายากจำพวกนี้ที่พบเห็นอยู่ตามป่าชายเลนบริเวณอ่าวมะนิลา อาทิ นกปากช้อนหน้าดำ นกอีก๋อยตะโพกสีน้ำตาล และนกน็อตใหญ่ รวมถึงนกใกล้สูญพันธุ์อย่างนกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส

ทั้งนี้ นักสิ่งแวดล้อมยังกังวลว่า ขยะพลาสติกจะเป็นอันตรายต่อนกหายากเหล่านี้ เพราะเมื่อสลายตัวแล้วจะกลายเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งปลาและหอยสามารถกินเข้าไปได้ แล้วพวกมันก็ถูกนกกินเข้าไปอีกที รวมถึงขยะมูลฝอยเหล่านี้ยังเป็นบ่อสะสมเชื้อโรคทั้งต่อสัตว์และมนุษย์

นางกาสโตร ระบุว่า หนึ่งในปัญหาที่ป่าชายเลนและทะเลโคลนกำลังเผชิญเป็นความเข้าใจผิดของผู้คนในสังคม ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สวยงามและไม่จำเป็น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน