“รายงานพิเศษ”

โรคทางจิตเวชทุกโรครักษาได้ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ การดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิตที่ดี ต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาล ครอบครัว ปัจจุบันหลายครอบครัวมีผู้ป่วยจิตเวชอาศัย ร่วมอยู่ด้วย ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอาจมีทั้ง ความรู้สึกผิด รู้สึกอาย หวาดกลัว หรือโกรธ การยอมรับการป่วยทางจิตในครอบครัวจึงต้องอาศัยระยะเวลา ผู้ป่วยและครอบครัวจึงต้องมีความอดทนเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อแม่หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ต้องมีความเสียสละและอดทนต่อสภาพปัญหาทั้งจากในครอบครัวและสังคม จนบางครั้งแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเองและประสบปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้

บุคคลเหล่านี้จึงควรได้รับการยกย่อง ตลอดจนได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินชีวิตที่ต้องต่อสู้เพื่อคนที่รักที่สุด

ดังนั้นสมาคมสายใยครอบครัวร่วมกับสมาคมสมาพันธ์ ผู้ดูแลไทย ได้จัดงาน “เพราะรัก จากพ่อ” (You Are Loved Forever)” ขึ้น พร้อมมอบรางวัล “พ่อผู้ดูแล…ที่รัก” เชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจให้ 5 คุณพ่อผู้เป็นแบบอย่างในการทุ่มเทชีวิตดูแลครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเวชมาเป็นระยะเวลานาน คือ คุณแสวง ยมมูล, คุณพิเชษฐ มุจลินทังกูร, คุณโสภณ สมสกุล พ่อผู้ดูแลลูกป่วยโรคจิตเภท

คุณเฉลียว จันทร์อ่อน พ่อผู้ดูแลภรรยาป่วยโรคซึมเศร้า และคุณเกษม เกิดร่วมบุญ พ่อผู้ดูแลลูกป่วยโรคออทิสติก

พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ จิตแพทย์ทรงคุณวุฒิ ร.พ.ศรีธัญญา และนายกสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวเสริมว่า ปัญหาที่มักพบเมื่อมีผู้ป่วยจิตเวชอาศัยอยู่ในบ้าน คือ ปัญหาช่องว่างระหว่างผู้ดูแลกับผู้ป่วยที่เข้าใจไม่ตรงกัน ผู้ป่วยมองโลกรอบตัวอย่างหนึ่ง พ่อแม่หรือผู้ดูแลก็มองอีกอย่างหนึ่ง ผู้ดูแลอาจไม่เข้าใจอาการและโลกข้างในของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยถอยห่างออกไป รู้สึกไม่เป็นที่ต้องการ ขาดกำลังใจ ไม่กินยา และไม่ให้ความร่วมมือ

ดังนั้นผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องพยายามทำความเข้าใจ อดทน ไม่รังเกียจ ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียง แสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับ รวมทั้งให้การดูแลเรื่องการกินยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ดูแลสุขภาพอนามัย พาพบแพทย์ตามนัด

หากพบว่าผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ ก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ขอให้รีบพาไปพบแพทย์

พญ.สมรักกล่าวด้วยว่า ที่สำคัญต้องดูแลสภาพร่างกายและจิตใจของตนเองร่วมด้วย เพราะหากผู้ดูแลเกิดความเครียดหรือมีปัญหาสุขภาพจิตย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเช่นกัน

ปัญหาทางจิตเวชไม่ใช่มีเพียงแค่จะรักษาอาการของลูกอย่างไร แต่ต้องเผชิญหน้า หาทางรับมือ ด้วยความรู้ความเข้าใจและด้วยสิ่งที่สำคัญกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน