โครงการ “ดาวเด่นบัวหลวง ๑๐๑”โครงการแข่งขันวาดภาพสด โดยความร่วมมือของมูลนิธิบัวหลวง ร่วมกับมูลนิธิหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดขึ้นเพื่อจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจทางด้านงานศิลปะ สนับสนุน เสริมสร้างศิลปินหนุ่มสาวรุ่นใหม่ให้มีเวทีแสดงออกถึงความสามารถทางด้านการรังสรรค์ศิลปะ

ปีนี้จัดการประกวดหัวข้อ “ประเทศไทย : อรุโณทัยแห่งจินตนาการ” เปิดโอกาสให้ตัวแทนนักศึกษาจาก 32 สถาบัน จำนวน 70 คน ส่งผลงานเข้าประกวด โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมตัดสินผลงาน

รางวัลดาวเด่นบัวหลวงยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงาน “ต้นกล้าใหม่ของสังคม” โดย เอ็ม ฤทธิเดช เสียงเส้ง จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ด้วยเทคนิคสื่อผสม จากไม้กระดาน ได้แรงบันดาลใจจากวิถีชนบท ความเป็นอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นชาวสวนในจังหวัดตรัง ภาพแสดงถึงความหวังให้เด็กรุ่นหลังซึ่งเปรียบเสมือนต้นกล้าใหม่ เป็นอนาคตของประเทศไทย สายตาที่มุ่งมั่นของเด็กคิดที่จะต่อยอดเรื่องเก่าไปสู่โลกกว้าง

เอ็ม ฤทธิเดช เล่าว่า “ในช่วง 10 วันได้รับมิตรภาพดีๆ จากเพื่อนๆ ได้เรียนรู้ความคิดใหม่ๆ ได้เจออาจารย์และศิลปินมืออาชีพที่มาแนะนำเส้นทางที่ดีให้ ตอนแรกที่เข้ามาเรียนก็ไม่ได้ตั้งความหวังหรือตั้งเป้าว่าตัวเองจะไปในเส้นทางไหนอย่างไร แต่เมื่อคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทางด้านศิลปะ จึงมีความคิดที่จะไปสู่จุดที่สูงขึ้นในอนาคต รางวัลนี้คือก้าวแรกที่สำคัญมากสำหรับผม ทำให้ผมมั่นใจว่าที่เดินมามันใช่และช่วยผลักดันให้เราก้าวขึ้นสู่ความเป็นศิลปินมืออาชีพในอนาคต”

ด้าน เพียว ผานิตชา จันทรสมโภช คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัลดาวเด่นบัวหลวงความคิดสร้างสรรค์ จากผลงาน “อรุณสวัสดิ์” ด้วยเทคนิคบาติก ถ่ายทอดเรื่องราวการย่างเข้าสู่รัชสมัยในรัชกาลที่ 10 ในขณะที่ยังสำนึกและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9

“การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เกิดการทดลองใหม่และได้แลกเปลี่ยนเทคนิคต่างๆ กับเพื่อนๆ ทำให้เราพัฒนา มีเทคนิคใหม่กลับไปใช้สร้างสรรค์ผลงานต่อไป เมื่อได้รับรางวัลรู้สึกภาคภูมิใจ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ส่งเสริมเส้นทางสู่การเป็นศิลปินมืออาชีพต่อไป” เพียวกล่าว

ขณะที่ เทิดธันวา คะนะมะ คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัลดาวเด่นบัวหลวงดีเด่น จากผลงาน “ยุคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี” ด้วยเทคนิคสื่อผสม เล่าเรื่องราวผ่านแผ่นเหล็กอันเป็นตัวแทนของยุคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังเฟื่องฟู พร้อมแนวคิดที่ว่าการพัฒนาทางด้านจิตใจควรจะยกระดับตามไปด้วย เทิดธันวากล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้รับในการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ว่า ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันหรือมาดูผลงานของเพื่อนต่างสถาบัน แต่ได้โอกาสฝึกฝน ได้มิตรภาพและแลกเปลี่ยนความคิด

ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า เส้นทางของผู้ที่อยากเป็นศิลปินมืออาชีพต้องทำงานให้ดี และกว้างขวาง ต้องออกไปพบปะผู้คนและพัฒนางานของตัวเองให้ดีขึ้นเสมอ รวมทั้งใช้โอกาสของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะโลกอินเตอร์เน็ตในการโชว์ผลงาน ซึ่งเป็นช่องทางที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับตัวเองได้

สนใจเข้าชมผลงานเยาวชนได้ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดแสดงวันนี้ถึง 13 มกราคม 2561

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน