30 ปี ทุ่งแสงตะวัน – ย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้ว มีรายการเด็กและครอบครัวที่แปลกประหลาดรายการหนึ่งปรากฏขึ้นในวงการโทรทัศน์ไทย รายการทุ่งแสงตะวัน ออกอากาศทางช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์สามเดือน แล้วย้ายมาออกอากาศที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อ.ส.ม.ท. ในยุคที่มีสถานีโทรทัศน์ไม่กี่ช่อง นักข่าวสาวนิรมล เมธีสุวกุล ยุติการรายงานข่าวดุดันเปลี่ยนไปรับบทบาทพิธีกรรายการเด็ก เปิดตัวเพียงไม่นานก็กวาดรางวัลทุกแพลตฟอร์มของเมืองไทย เพราะเป็นรายการที่โดดเด่นและเป็นประเด็นปัญหาในขณะนั้น

โปรดิวเซอร์ แรกเริ่มคือ สุริยนต์ จองลีพันธ์ ในวาระที่รายการอายุครบ 30 ปี เดือนตุลาคมนี้ ต้องขอจับเข่าคุยกับเขาสักหน่อย

“ผมกับพี่นกเป็นนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อม การเล่าข่าวหรือว่ารายงานข่าวสมัยนั้น มีเวลาออกอากาศข่าวละสั้นๆ สองสามนาที พอทำนานๆ เข้า ก็อยากจะเล่าให้มันกว้างขึ้นรอบด้านขึ้น เลยทำรายการเด็กกับ สิ่งแวดล้อม ตอนแรกก็คิดว่าทำสัก 2 ปี ไม่นึกว่าจะยาวมาถึง 30 ปีในวันนี้นะครับ”

30 ปีก่อน กระแสบริโภคนิยมทั่วโลก ทรัพยากรเสื่อมโทรม สิ่งแวดล้อม ดินน้ำป่าถูกทำลาย ส่งผลต่อสรรพชีวิตอย่างรุนแรง เป็นประเด็นระดับนานาชาติ รายการทุ่งแสงตะวันเสนอปัญหาใหญ่ด้วยมุมมองเด็กๆ ดูได้อย่างเบาสบายแต่มีฐานข้อมูลเนื้อหาหนักแน่น ออกอากาศที่ช่อง 3 เป็นตอนแรก ชื่อตอน “เกิดเป็นเต่า” เรื่องราวเด็กและชาวบ้านพบว่ามีเต่าขึ้นมาไข่บนชายหาดละแวกบ้าน จึงช่วยกันล้อมรั้วดูแลจนลูกเต่าออกมาจากไข่และพากันเดินลงทะเลกว้าง มีภาพการ์ตูนประกอบเรื่องอย่างน่าสนใจ

นิรมล เมธีสุวกุล พิธีกรรายการเล่าว่า “ทุ่งแสงตะวันเรื่อง เกิดเป็นเต่า อยู่บนฐานข้อมูลว่า ประเทศไทยเราสูญเสียป่าชายเลนจากการทำนากุ้ง แผ่นดินริมทะเลถูกกัดเซาะจนระดับนานาชาติเตือนว่าจะเป็นความสูญเสียที่รุนแรงและยาวนาน ท้องทะเลมีการประมงแบบรุกรานทั้งอวนรุนอวนลาก มีความขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์ ระบบนิเวศชายฝั่งถูกทำลาย มีการชูประเด็นเต่าทะเลเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและชายฝั่ง กลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ทำงานกันอย่างหนัก เราก็นำเสนอในมุมมองแบบทุ่งแสงตะวัน การคัดสรรเนื้อหาของเราเป็นแบบนั้น เนื้องานมันก็ควรค่ากับการเลิกทำข่าวมาทำสารคดีเด็กอ่ะนะ”

หลังจากนั้น ทุ่งแสงตะวันก็พัฒนาและผสมผสานเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม เข้าด้วยกัน โดยมีเด็กในชุมชนต่างๆ เป็นผู้เล่าเรื่องตามประสาเด็ก มีบทและเสียงผู้บรรยายเสริมเนื้อหาสาระที่หนักแน่นเติมเข้าไป จนเป็นรายการที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี จัดกิจกรรมครบรอบ 10 ปี 15 ปี 20 ปี 25 ปี ที่ในที่สุดก็เข้าสู่ปีที่ 30 แล้วในวันนี้

ทุ่งแสงตะวัน เป็นทั้งความทรงจำและเป็นปัจจุบัน เพราะออกอากาศต่อเนื่องกันมามากกว่า 1,500 ตอน วิธีการนำเสนอแตกต่างไปจากเดิมไม่น้อย จากที่เคยเห็นพิธีกรลุยน้ำลุยโคลนวิ่งกับเด็กๆ ในท้องไร่ท้องนา ทุกวันนี้เด็กๆ คุ้นเคยกับการแสดงออกจนแทบจะดำเนินรายการไปได้ด้วยตนเอง

พี่นก นิรมล เล่าว่า “เด็กสมัยนี้เก่งแล้วพูดกับกล้องได้ ทีมงานเราก็แข็งแกร่งมีเทคนิคการสื่อสารถ่ายทำได้ดี โปรแกรมการตัดต่อ กราฟิก วิธีการนำเสนอหลากหลายและสนุกขึ้นมาก เมื่อก่อนต้องปีนต้นไม้ถ่ายมุมสูงมากแบบทีมงานอื่นเขาไม่ทำกัน จะได้เห็นวิวเห็นมุมมองแตกต่าง ตอนมีโดรนออกสู่ตลาด รีบซื้อมาใช้เลย จำได้แม่น ใช้โดรนครั้งแรกตื่นเต้นคุ้มมาก มุมกล้องเคลื่อนจากแม่น้ำโขงเข้ามาเห็นผาแต้มที่ยิ่งใหญ่อลังการเปิดมุมมองที่ปกติคนไม่เคยเห็น สมัยนี้โดรนบินว่อนจนต้องมีกฎหมายควบคุม (หัวเราะ)”

วสวัณณ์ รองเดช ครีเอทีฟและผู้เขียนบทที่รับช่วงต่อจากรุ่นบุกเบิก เล่าว่า สมัยก่อนเด็กกลัวรถตู้ เวลากองถ่ายขับรถเข้าหมู่บ้านจะวิ่งหลบกันเงียบ “เคยมีครั้งหนึ่ง เด็กๆ จวนตัว หาที่แอบไม่ทัน นอนหลบหลังกอหญ้าต้นเล็กๆ คงนึกว่าเราจะไม่เห็น เอ็นดู”

ก่อนถ่ายทำต้องทำความคุ้นเคย สร้างความเข้าใจ เพื่อให้ได้รับความร่วมมือและถ่ายทำตามความเป็นจริง รักษาบรรยากาศให้เป็นปกติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้เรื่องราวเป็นธรรมชาติที่สุด

ตลอด 30 ปีโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัญหา วิถีการใช้ชีวิต เครื่องมือ อุปกรณ์ และการสื่อสารสมัยใหม่เพิ่มโอกาสการสื่อสารมากขึ้น ทีมงานรุ่นปัจจุบันจึงกลายเป็นทีมงานมัลติฟังก์ชันกันแทบทุกคน

กนกวรรณ อำไพ ครีเอทีฟทุ่งแสงตะวันรุ่นใหม่ กล่าวว่า “ทุกวันนี้เด็กๆ วัยรุ่นคนรุ่นใหม่สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัญหามันชัดขึ้นเรื่อยๆ ทำทุ่งแสงตะวันเนื้อหาคือเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ส่วนการทำงานนอกจากทำทุ่งแสงตะวันแต่ละตอนก็ทำงานด้านออนไลน์มากขึ้น สมัยนี้ออกกองถ่ายเห็นอะไรสวยหรือน่าสนใจก็เอามาทำเป็นคอนเทนต์”

รัตนาภรณ์ ละมูลเจริญ ครีเอทีฟอีกคนช่วยเสริมว่า “ตอนเราเรียนมหาวิทยาลัย กองถ่ายจะมีตำแหน่งแยกหลายตำแหน่งมาก แต่เรารวบทุกตำแหน่งค่ะ ยิ่งปัจจุบันโควิดระบาด กองถ่ายต้องเล็กที่สุด โห…ขออุทานว่าเก่ง คือความภูมิใจมาก ทำได้ ปัญหาบ้านเมือง กระแสสังคมนู่นนี่นั่น มีเรื่องให้เล่าตลอดเวลา เพราะชีวิตมนุษย์ สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมชาติ วัฒนธรรม เกี่ยวข้องกันหมด”

จากเรื่องราวของเด็กวิ่งเล่นวันหยุด สู่การถ่ายทอดกิจกรรมปลูกฝังสำนึกรักบ้าน รักชุมชน รักโลก การตั้งคำถามเรื่องเกษตรเชิงเดี่ยวและเสนอทางเลือกใหม่ เกษตรปลอดภัย เกษตรไร้สารพิษเพื่อดินน้ำป่าและคนปลูกคนกิน ตั้งคำถามและเสนอแนวคิดเรื่องระบบการศึกษาที่เหมาะสม ให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข เรียกร้องพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็ก

สามทศวรรษของทุ่งแสงตะวันคือการเดินทางไปพร้อมๆ กับประเด็นปัญหาของสังคมและนำเสนอแนวทางที่เหมาะสม

ดูเหมือนว่าทุ่งแสงตะวันขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับปัญหาของประเทศ ผ่านเรื่องเล่าของเด็กและครอบครัว ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ถาม พี่นก นิรมล เมธีสุวกุล ว่าครบรอบ 30 ปี จะทำอะไรบ้าง

“โควิดเนาะ ข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ก็จะมีกิจกรรมใหญ่ๆ สองสามอย่าง ที่แน่ๆ คือ มีจัดวิ่ง VirtualRun สมทบทุนมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกซึ่งทำงานอนุรักษ์ที่ทีมงานเราชื่นชมเป็นแหล่งข่าวชั้นเลิศของปี 2564 และตั้งแต่ 16 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จะมีซีรีส์พิเศษ มองอดีต มองปัจจุบัน แล้วก็มองถึงอนาคต อยากให้คนรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น อยากจะให้เด็กไทยของเราเติบโต เด็กๆ ตระหนักในคุณค่าของสรรพชีวิต มีคนคุณภาพ ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้น่าอยู่ต่อไป ติดตามรายละเอียดในเพจทุ่งแสงตะวันได้ค่ะ”

ทุ่งแสงตะวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน