อีกหนึ่งทางเลือกแพทย์-นักวิจัยไทย – นายแพทย์รังสรรค์ บุตรชา, นายแพทย์สิทธา ลิขิตนุกูล, นายแพทย์พงศ์ศักดิ์ ตั้งคณา และ ดร.ภัทร์ หนังสือ แพทย์แผนไทย ร่วมกันแถลงข่าวงานวิจัยสมุนไพรไทยตำรับยาครอบไข้ ตักศิลา ที่มีชื่อการค้าว่า “ยาเคอร่า” พบผลการวิจัยมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด-19 ได้ผลดี

นายแพทย์สิทธา ลิขิตนุกูล เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยในหลอดทดลองของตำรับยาสมุนไพรครอบไข้ตักศิลานี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก ITAP หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายด้าน ซึ่งมีผลต่อการยับยั้งการขยายตัวของไวรัส

1.พบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์หลักในการขยายตัวของไวรัสคือ main protease โดยตำรับยาสมุนไพรนี้ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์หลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ความเข้มข้นเพียง 0.18 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ที่ถือเป็นระดับความเข้มข้นที่ต่ำมาก โดยที่มีฤทธิ์ยับยั้งสูงกว่ายาแผนปัจจุบัน คือ Lopinavir ถึง 1500 เท่า สูงกว่ายา Ritronavir ถึง 500 เท่า

ยาแผนปัจจุบันทั้งสองชนิดนี้ ในปัจจุบันกรมการแพทย์ได้กำหนดให้ใช้บรรเทาอาการผู้ป่วยโควิด ในระยะที่ปอดอักเสบรุนแรง หรือสีแดง และเมื่อเทียบกับสารสำคัญในฟ้าทะลายโจรคือ Andrographolide และสารสำคัญในกระชายขาวคือ Pendulatin A นั้น มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์สูงกว่าถึง 100 และ 72 เท่า ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นยายับยั้งการขยายตัวของไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง

2.พบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในการขยายตัวของไวรัสตัวที่ 2 คือ RNA-dependent RNA polymerase (RdRp) ได้มีประสิทธิภาพสูงกว่ายา Favipiravir ถึง 500% จึงถือเป็นยาต้านไวรัสชนิดเดียวในโลกที่มีกลไกการยับยั้งเอนไซม์ในการขยายตัวของโควิด-19 ได้พร้อมกันถึง 2 กลไก

3.พบฤทธิ์ยับยั้งการขยายตัวของโคโรนาไวรัสในเซลล์ โดยพบว่าในจานเพาะเชื้อทดลองที่มีการทำให้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสนั้น จานทดลองที่หยดสารสกัดตำรับยาสมุนไพรครอบไข้ตักศิลานี้ลงไป ไวรัสมีการหยุดการขยายตัวโดยพบว่าจานที่มีสารสกัดตำรับสมุนไพรนั้นมีไวรัสเพียง 600,000 ตัว ในขณะที่จานควบคุมที่ไม่มีสารสกัดนั้นไวรัสเพิ่มจำนวนเป็น 9,000,000 ตัว ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน

4. พบฤทธิ์การยับยั้งการอักเสบที่ดีกว่ายา Diclofenac และยา Prednisolone

5. พบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ที่มีค่า ORAC สูงถึง 81260 หน่วย

6.มีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบหลายชนิด เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม ซึ่งเมื่อละลายน้ำจะมีสภาพเป็นด่าง ช่วยลดภาวะ metabolic acidosis ในผู้ป่วยโรคโควิด-19

7.การทดสอบความเป็นพิษกับเซลล์ตับ เซลล์ไต และเซลล์เม็ดเลือดขาว พบว่ามีค่าความเป็นพิษต่ำ โดยต้องรับประทานในปริมาณสูงมากเช่น 2,000 แคปซูล ต่อมื้อ จึงอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อเซลล์ตับ หรือเซลล์ไตได้ จึงมีความปลอดภัยสูง

8.การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันในหนูทดลอง พบว่ามีระดับค่าความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ ในระดับ category 5 โดยหนูทดลองจะต้องได้รับยาเกินกว่า 5,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม จึงจะพบความเป็นพิษ

9.รายงานการวิเคราะห์ตัวสมุนไพร พบว่าไม่มีสารสเตียรอยด์ เช่น Dexamethasone ส่วนค่าโลหะหนักอยู่ในระดับมาตรฐานที่ไม่เป็นอันตราย

10.เป็นสมุนไพรกลุ่มที่มีฤทธิ์ลดไข้

ด้านดร.ภัทร์ หนังสือ แพทย์แผนไทย เปิดเผยว่า ตนได้พัฒนาตำรับยาสมุนไพรเคอร่า จากตำรับยาครอบไข้ตักศิลา โดยได้เลือกสมุนไพร 9 ชนิด เป็นส่วนประกอบ นำมาผ่านกระบวนการสกัดด้วยความร้อนและความเย็น เพื่อกระตุ้นสารสำคัญในพืชสมุนไพรจนมีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสได้เป็นผลสำเร็จ

เคยได้ใช้ยาตำรับนี้รักษาโรคไข้หวัด เริม และงูสวัด เป็นต้น ซึ่งพบว่าได้ผลดี ต่อมาเมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด จึงได้นำยาตำรับนี้มาใช้กับผู้คนจำนวนมากพบว่าได้ผลดี จึงได้นำสมุนไพรตำรับนี้แจกจ่ายบริจาคให้กับชุมชนต่างๆ เรื่อยมา

สมุนไพรตำรับนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการขยายตัวของไวรัสในร่างกาย ช่วยลดไข้ ลดอาการไอ ขับเสมหะ โดยเฉพาะการขับเสมหะออกจากปอดของคนไข้ที่เริ่มมีอาการปอดอักเสบ ทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและหายจากอาการเจ็บป่วย

ส่วนรายงานผลทางคลินิกของการใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 นายแพทย์รังสรรค์ บุตรชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ หัวหน้าแพทย์ทีมวิจัย เปิดเผยว่า จากการใช้ยาสมุนไพรตำรับครอบไข้ตักศิลา กับผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลือง จำนวน 3,091 ราย นั้นพบว่ายาตำรับนี้ยับยั้งไวรัสได้ โดยไม่มีผู้ป่วยรายใด มีอาการลุกลาม จนต้องเข้าไอซียู หรือต้องใช้ท่อช่วยหายใจหรือเสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว

นอกจากนั้นผู้ป่วยร้อยละ 75 จะหายป่วยภายในระยะเวลาเพียง 7 วัน โดยในช่วง เริ่มต้นการรักษานั้น มีผู้ป่วยจำนวน 1,465 ราย คิดเป็นร้อยละ 47 มีอาการปอดเริ่มติดเชื้อ ก่อนรับการรักษามีอาการไอ มีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อย หรือแน่นหน้าอก โดย ผู้ป่วยที่รับการรักษานั้นมีอายุตั้งแต่ 3 เดือน ไปจนถึงกว่า 80 ปี โดยมีผู้ป่วยอายุเกินกว่า 60 ปี จำนวน 226 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 รวมทั้งมีหญิงตั้งครรภ์จำนวน 9 ราย ซึ่งทุกรายหายเป็นปกติ

มีผู้ป่วยจำนวน 572 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 เป็นผู้มีโรคประจำตัวตั้งแต่ 1 โรคขึ้นไป เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน หัวใจ เป็นต้น ซึ่งทุกรายปลอดภัย ส่วนระยะเวลาการรักษานั้น ผู้ป่วยร้อยละ 75 จะหายภายใน 7 วัน ส่วนที่เหลือทั้งหมดจะหายภายใน 16 วัน ซึ่งเราจะติดตามผลต่อไปถึงภาวะหลังป่วยโควิด ในคนไข้เหล่านี้ที่หายป่วยแล้วว่ามีอาการผิดปกติอย่างไรต่อไปหรือไม่ ในระยะ 1 เดือน ถึง 1 ปี

ในการเก็บข้อมูลทางคลินิกนั้น พบว่ายาสมุนไพรตำรับนี้ไม่พบอันตกิริยากับ ยาแผนปัจจุบันที่คนไข้ใช้อยู่ ไม่พบผลข้างเคียงต่อตับและไตของคนไข้ที่ใช้ยา ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ พบจำนวน 9 ราย จาก 3,091 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.4 มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และมีหนึ่งรายที่รายงานอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งต้องติดตามผลต่อไป และพบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจในผล ของการใช้ยา

ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของโลกในการ ค้นพบยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ และได้เก็บผลการรักษา ทางคลินิกในกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนและยกระดับของงานวิจัยให้มีกลุ่มตัวอย่างที่มากขึ้นและหลากหลายขึ้น นับเป็นความหวังของประเทศไทยในการหาทางออก ในการรักษาและยับยั้งการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน