เบื้องหลังความงาม 9 นางรำบวงสรวง – หลังแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ นักแสดงสาวที่ร่วมรำในพิธีสักการะท้าวมหาพรหมประจำปี 2564 เป็นคนแรกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากงานจัดเพียงปีละครั้งและที่ผ่านมาเหล่าคนดังต่างๆ ที่เคยมารำถวายจะเป็นการรำแก้บนทั้งสิ้น

เบื้องหลังความพิเศษของการรำในพิธี สักการะท้าวมหาพรหมของนางรำทั้ง 9 คน ในบทเพลงที่ประพันธ์ใหม่ครั้งนี้ ชุดของนางรำและเครื่องแต่งกายจัดเตรียมโดย จารุวรรณ สุขสาคร ครูภูมิปัญาญาละครชาตรีวิทยากรพิเศษ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย คณะจงกล โปร่งน้ำใจ บูรพศิลปินกระทรวงวัฒนธรรม ตัดเย็บสำเร็จเลียนแบบละครโบราณ ใช้วัสดุสมัยใหม่ที่ผ้ามีเลื่อมทองปัก มาแล้ว (เป็นผ้าไหมอินเดีย) ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยเพชรพลอย และปักเพิ่มเป็นดอกด้วยมือโดยใช้เลื่อมสีทองปักเป็นหลัก ทางคณะจะเรียกว่า “เครื่องเบา ลายแบบโบราณ” ปักด้วยมือโดยรัตน์ วัชรพงศ์ ปานเสนชุติพันธุ์ แห่งบ้านเครื่องครูรัตน์ นนทบุรี ศิลปินดีเด่นจังหวัดนนทบุรี

ส่วนยอดมงกุฎที่ใส่บนศีรษะทำด้วยโลหะประกอบเงินแท้ ลงรักปิดทองแท้ พร้อมห้อยอุบะดอกไม้ทัดยอด เรียกว่า “ศิราภรณ์” ในส่วนเครื่องประดับทำมาจากเครื่องเงินแท้เกือบทุกชิ้น

ประกอบด้วย จี้นาง หัวเข็มขัด (ปั้นเหน่ง), ทองกร (กำไลมือแผงฉลุ) ประดับด้วยพลอยสีทับทิม, สายเข็มขัดแบบ (ทางมะพร้าว) ชุบทองแท้, สะอิ้งทองพลอยสีทับทิม (สายสร้อยตัวใส่ก่อนห่มผ้านาง), ข้อมือประดับด้วยแหวนรอบ ปะวะหล่ำ กำไลสร้อยลูกไม้ ปลายมือ ข้อเท้า กำไลข้อเท้าหัวบัว พร้อมแหวนรอบ (โลหะชุบทอง) รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1 แสนบาท

สำหรับชุดของนางรำอีก 8 คน เป็นการล้อมาจากชุดของนางรำละครชาตรีโบราณ ซึ่งดั้งเดิมใช้เครื่องปักด้วยดิ้นเลื่อมโลหะ ลวดลายเป็นลายชาวบ้าน ลายป่า เมื่อวิวัฒนาการเปลี่ยนไปมีการนำเลื่อมพลาสติกลูกแก้ว ลูกปัด มาปักเครื่องแต่งกายให้สวยงามมากขึ้น

ในสมัยโบราณการรำถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะใช้การรำถวายมือ ประกอบไปด้วย 3 เพลง คือ เพลงช้า เพลงเร็ว และเพลงลงลา แต่นับตั้งแต่ปี 2519 การรำถวายท่านท้าวมหาพรหม จะนำเอาชุดที่มีการร้องเข้ามาประกอบ อาทิ ระบำเทพบรรเทิง ระบำดอกบัว เพื่อที่จะมีการร้องและรำไปด้วยกัน

แม้การรำบวงสรวงที่สาวแพนเค้ก เขมนิจเป็นตัวแทนนำร่ายรำจะหาชมได้เพียงปีละ 1 ครั้ง (เฉพาะวันที่ 9 พ.ย.ของทุกปี) หากแต่นางรำแก้บนที่ประจำอยู่ ณ ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ โดยคณะจงกล โปร่งน้ำใจบูรพศิลปินกระทรวงวัฒนธรรม ยังคงสืบสานงานศิลปะดั้งเดิมและสืบทอดความเชื่อ ความศรัทธา เสมือนสะพานสื่อสารระหว่าง ผู้ศรัทธากับองค์เทพฯ มาตั้งแต่ปี 2519

โดยในทุกวันที่ 9 พ.ย.ของทุกปีจะถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ เหล่านางรำจะเปลี่ยนชุดรำและเครื่องทรงเพื่อถวายให้แก่ท่านท้าวมหาพรหม สำหรับชุดล่าสุดนี้ถือเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน