ภาวะผมร่วงหลังฉีดวัคซีนโควิด – จากกรณีหนุ่มวัย 19 ปี ออกมาเปิดเผยหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบ 2 เข็มแล้วมีผลข้างเคียง เส้นผมบนศีรษะหลุดร่วงจนเกือบหมด จนมีผู้ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการ ผมร่วงแบบเดียวกันออกมาให้ข้อมูลอีก หลายคน

พญ.ชินมนัส เลขวัต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความเป็นไปได้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจจะกระตุ้นทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนบางรายเกิดอาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

ทั้งนี้โรคผมร่วงเป็นหย่อม ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกช่วงอายุ ผู้ป่วยมีอาการผมร่วง เป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ โดยอาจจะมีขนร่วงที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น คิ้วหนวด จอนหรือขนตามร่างกาย ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการผมร่วงทั่วศีรษะหรือขนตามร่างกายร่วงจนหมด โดยทั่วไปโรคผมร่วงเป็นหย่อมนี้ เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด

แต่จากหลักฐานทางการศึกษาเชื่อว่าเกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านตนเอง ร่วมกับมีการเสียการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกันและอาจมีปัจจัยทางกรรมพันธุ์มาเกี่ยวข้อง โดยร่างกายอาจถูกกระตุ้นได้จากปัจจัยบางอย่าง เช่น ความเครียดทั้งจากภาวะการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารสื่อประสาทที่บริเวณต่อมผม จึงทำให้การสร้างผมผิดปกติและวงจรชีวิตของผมเปลี่ยนจากระยะเจริญเติบโตเป็นระยะหลุดร่วงเร็วขึ้น

อย่างไรก็ดีภาวะผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ยังจำเป็นที่จะต้องรอผลการศึกษามากกว่านี้ ในเรื่องอุบัติการณ์การเกิดหลังจากการฉีดวัคซีน

เนื่องจากวัคซีนใช้กระบวนการที่เลียนแบบการสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นอาจมีการกระตุ้นการเกิดภูมิคุ้มกันต้านตนเองและเกิดปฏิกิริยาอักเสบที่บริเวณต่อมผม ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้

ซึ่งในปัจจุบันพบรายงานการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม ที่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความเป็นไปได้ที่โรคผมร่วงเป็นหย่อมจะเกิดขึ้นใหม่หรือในผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นมากอยู่แล้วจะเกิดมีอาการมากขึ้นหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว หลังจากมีการติดเชื้อ โควิด-19 ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการ ดังกล่าวมากพอที่จะสรุปผลได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นน้อยไม่พบว่ามีอาการมากขึ้น ภายหลังการติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ยังพบว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อม อาจเกิดภายหลังการฉีดวัคซีนอื่นๆ ได้ด้วย เช่น วัคซีนงูสวัด, วัคซีนไวรัส ตับอักเสบบีและวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี โดยจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมร่วมด้วย เช่น ปัจจัยทางกรรมพันธุ์, ความเครียด, การเจ็บป่วย, โรคภูมิแพ้, โรคไทรอยด์, โรคลูปัส, ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก, ภาวะการขาดวิตามินดี

สำหรับการดูแลและรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังการฉีดวัคซีนหรือหลังการติดเชื้อโควิด-19 ควรจะรักษาตามมาตรฐานของการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม โดยการรักษาขึ้นกับขนาดพื้นที่ของผมร่วงที่ศีรษะ ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย มีผมร่วงเป็นหย่อมเพียง เล็กน้อย อาการผมร่วงอาจหายได้เองหรือไปรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ด้วยการทายาสเตียรอยด์หรือฉีดยาสเตียรอยด์ที่ศีรษะ ร่วมกับการทายาไมน็อกซิดิล (Topical minoxidil) 2-5% วันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นผมให้ขึ้นใหม่

ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก มีผมร่วงทั่วศีรษะหรือมีขนตามร่างกายร่วงด้วย ควรจะพบแพทย์เพื่อพิจารณาหาวิธีการรักษา เช่น การรักษาด้วยยาทาไดฟีนิลไซโคล, โพรพีโนนหรือ ยาทาดีพีซีพี หรือยาชนิดอื่นๆ ตามที่แพทย์เฉพาะทางพิจารณา นอกจากนี้การรับประทานเหล็กและวิตามิน เช่น สังกะสี (Zinc), ไบโอติน (Biotin), วิตามินดี (Vitamin D) ยังไม่มีหลักฐานทางการศึกษาชัดเจนว่าจะมีส่วนช่วยรักษาในผู้ป่วยที่ไม่ได้มีภาวะขาดเหล็กหรือวิตามิน

ด้าน รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบมากมายให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิตที่ย่ำแย่จากการวิตกกังวลและความเครียดที่มีมากเกินไปย่อมส่งผลเสียตามมากับการใช้ชีวิตประจำวันของคนในสังคม โรค ผมร่วงเป็นหย่อมเป็นอีกโรคที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด การ พักผ่อนน้อย การไม่สบายอื่นๆ นำมาก่อน เช่น ภาวะโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองอื่นๆ อาทิ โรคเอสแอลอี (SLE), โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น

โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากการที่เม็ดเลือดขาวของคนไข้มาทำลายรากผม ทำให้ผมหลุดร่วงเป็นหย่อม อาจจะเริ่มจากหย่อมเดียว(Alopecia areata) กระจายหลายๆ หย่อม (Multiple alopecia areata) ผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia totalis) หรือมีขนตามร่างกายร่วงทั้งหมด (Alopecia Universalis) สาเหตุของการเกิดโรคเชื่อว่าเกิดจากความ ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาว ซึ่งเดิมมีหน้าที่ทำลาย เชื้อโรคต่างๆ กลับมาทำลายเซลล์รากผม ของคนไข้เอง

โรคผมร่วงเป็นหย่อม สามารถเกิดได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โอกาสพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ของจำนวนประชากร ซึ่งการวินิจฉัย ตามปกติโรคนี้สามารถวินิจฉัยได้จากอาการแสดงทางคลินิก คือ มีผมร่วง เป็นหย่อม ลักษณะของผมร่วงเป็นผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น (Non-scarring alopecia) อาจมีหย่อมเดียว หลายหย่อม ทั่วทั้งศีรษะ หรือมีขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ ขนตามตัวต่างๆ ร่วงด้วยก็ได้

ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วย โดยการดำเนินโรคส่วนหนึ่งสามารถหายขาดได้ ส่วนหนึ่งจะเป็นเรื้อรังและอีกส่วนหนึ่งจะไม่หายถึงแม้ ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน