‘ซิวเกลี้ยง’สุดยอดข้าวเหนียวดอย – แม้เดินทางมาที่จ.เลยหลายครั้งหลายหน แต่เพิ่งเคยได้ลิ้มรสข้าวหลามอร่อยที่สุดแสนจะเหนียวนิ่ม ฝีมือแม่บ้านชุมชนผู้ปลูกข้าวไร่บ้านน้ำเย็น ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งใช้ข้าวเหนียว ‘ซิวเกลี้ยง’ มาเป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ชิมกัน และไม่ว่าจะกินแบบข้ามคืนข้ามวันแต่ข้าวหลามที่ว่าก็ยังนิ่มเหนียวเหมือนเดิม

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้อยากรู้อยากเห็นว่าข้าวเหนียว ‘ซิวเกลี้ยง’ นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

‘กำนันสังวร จันทรคีรี’ กำนันต.กก สะทอน พ่วงด้วยตำแหน่งประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวไร่กกสะทอน และประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็น เล่าถึงข้าวพื้นเมืองของพวกเขาด้วยความภาคภูมิใจว่า ข้าวนี้มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว คนแก่ปู่ย่าตายายบอกเกิดมาก็เห็นและได้กินข้าวซิวเกลี้ยงกันทุกมื้อตั้งแต่เด็กยันแก่ ตอนนี้มีสมาชิกผู้ปลูกข้าวซิวเกลี้ยง 60 ครอบครัว

ทั้งนี้ ‘ซิวเกลี้ยง’ เป็นข้าวที่ปลูกได้ในหน้าฝนระหว่างเดือนพ.ค. เก็บเกี่ยวในเดือนต.ค. ใน 1 ปีปลูกได้ 1 ครั้ง เป็นข้าวนาปี แต่ต้องปลูกบนเขาหรือนาในที่ลุ่มที่ไม่มีน้ำขัง ข้อดีคือ แม้ฝนทิ้งช่วง 10-20 วันข้าวก็ไม่ตาย แถมสามารถทนต่อโรคไหม้ได้ดีปานกลาง ดีที่สุดคือทนต่อความเป็นกรดเป็นด่างสูงมาก ไม่ว่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินเป็นอย่างไรก็แทบไม่มีผลต่อการออกรวง และการให้ผลผลิตที่ดีเลย เฉลี่ยแล้วเกษตรกรได้ข้าว 450-500 ก.ก./ไร่ในพื้นที่ปกติ แต่ถ้าดิน มีคุณภาพดีอาจได้ถึง 800 ก.ก./ไร่ทีเดียว นอกจากนี้ยังเป็นข้าวไวแสงด้วย เวลาสุกจะสุกพร้อมกัน ทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว

กำนันรายนี้ขยายความต่อว่า ข้าวเหนียว ‘ซิวเกลี้ยง’ เป็นที่ต้องการของตลาดมาก ด้วยคุณสมบัติที่อ่อนนุ่ม มีเท่าไหร่พ่อค้าแม่ค้าข้าวรับซื้อหมด เพื่อนำไปปนกับข้าวแข็งจากที่อื่นแล้วขายรวมกันเป็นข้าวดี จะได้ราคา สำหรับพันธุ์ข้าวซิวเกลี้ยงมีแต่คนจอง ทั้งขายไปที่น่านและอุตรดิตถ์ แต่ตอนนี้ทางกลุ่มไม่ค่อยขายมากเท่าไหร่เพราะผลิตกันในปริมาณจำกัด

ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยทำวิจัยเรื่องคุณสมบัติข้าวซิวเกลี้ยง ซึ่งต้องทำให้มีสายพันธุ์ที่บริสุทธิ์จริงๆ เกษตรกรที่เข้าร่วมต้องคัดสายพันธุ์ มากขึ้น ต้นข้าวสีอื่นๆ ที่ไม่เขียวแบบซิวเกลี้ยงจะถูกถอนทิ้งหมด ไม่ให้เกิดการปนเปื้อนกับสายพันธุ์อื่นเพื่อ ให้ได้อัตลักษณ์ที่แท้จริงของข้าวสายพันธุ์นี้ โดย เกษตรกรในต.กกสะทอน มีพื้นที่ปลูกข้าวไร่มากถึงประมาณ 5,000 กว่าไร่

“พื้นที่ไร่ไม่มีว่างจากการทำการเกษตร เพราะทำไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง ปลูกข้าวไร่ และแก้วมังกร หมุนเวียนกันไปตลอดทั้งปี ไม่มีได้หยุด ซึ่งการปลูกพืชหมุนเวียนแบบนี้ทำให้โรคแมลงมีไม่มาก ส่วนที่ว่าทำไมข้าวซิวเกลี้ยงถึงนิ่ม กินดี ส่วนตัวคิดว่าเป็นเพราะอากาศเย็นๆ ของพื้นที่แถบนี้ และที่ตั้งที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลพอดีๆ น่าจะทำให้คุณสมบัติจำเพาะของข้าวสายพันธุ์นี้นิ่มกว่าข้าวสายพันธุ์อื่น”

กับคำถามที่ความนิ่มของข้าวซิวเกลี้ยงจะอยู่ได้นานแค่ไหน กำนันสังวรตอบว่า นิ่มตั้งแต่สีในช่วงเดือนแรกไปจนถึงอีก 10 เดือนต่อมา ครบ 10 เดือนจะได้ข้าวรุ่นใหม่มาแทนข้าวซิวเกลี้ยงรุ่นเก่า พอเป็นรุ่นเก่าจะนำไปทำข้าวแต๋นน้ำแตงโม เพราะเมล็ดข้าวสารเหนียวซิวเกลี้ยงเม็ดใหญ่กว่า กข.6 ทำข้าวแต๋นน้ำแตงโมดีกว่า คนทำข้าวแต๋นน้ำแตงโมจะรับซื้อข้าวเก่าซิวเกลี้ยงไม่อั้น

ที่สำคัญเมื่อนำไปทำน้ำสาโท ถ้าเทียบกับข้าวเหนียวอื่นๆ แล้ว ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่มากกว่า แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำกันแล้ว

ขณะที่ข้อมูลของทางจ.เลยระบุว่า ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองแท้ดั้งเดิมของจ.เลย ซึ่งไวต่อแสง ปลูกได้เฉพาะฤดูฝน ในที่ราบระหว่างภูเขา และภูเขาที่มีความสูง 500-1,000 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในพื้นที่อ.ด่านซ้าย ภูเรือ และนาแห้ว ใช้วิธีการคัดเลือกพันธุ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็น มีการ คัดพันธุ์ตั้งแต่อยู่ในรวงข้าวที่มีความสมบูรณ์ สูง 86-109 ซ.ม. ไม่ล้มง่าย แตกกอดี ต้านทานโรค รวงยาวใหญ่ 24.50-27 ซ.ม. มี 3-4 รวงต่อต้น ผลผลิต 550-600 ก.ก. ต่อไร่ อายุเก็บเกี่ยว 133 วัน

ส่วนที่มาที่ไปของชื่อ ‘ซิวเกลี้ยง’ นั้น กำนันสังวรบอกว่า ข้าวอีกสายพันธุ์หนึ่งของที่นี่เรียกว่าข้าวซิวอ้าว มาจากคำว่า “ปลาซิวอ้าว” แต่ในพื้นที่นี้มีข้าวไร่อีกพันธุ์ ที่มีเมล็ดใหญ่กว่า ต่างกันที่เปลือกของเมล็ดข้าวสายพันธุ์นี้ไม่มีขนรอบเมล็ดข้าวเปลือก เลยเรียก ‘ซิวเกลี้ยง’ ในการปลูกข้าวไร่ เกษตรกรที่นี่ใช้ “รุ่ง” (เหล็กหรือไม้) ทิ่มลงไปในดินให้เป็นรู เสร็จแล้วหยอดข้าวลงไปแล้วกลบทำกันมาตั้งแต่โบราณ

ระยะหลังชุมชนกกสะทอนปลูกข้าวไร่ พร้อมทำเป็นกิจกรรมสำหรับให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือน ร่วมปลูกข้าวบนเขาและตามที่ราบลุ่มในร่องเขา ด้วยการนั่งรถอีแต๊กขึ้นไป มีการทำพิธีตาแฮกหรือพิธีไหว้ผีไร่ผีนาด้วย หลังจากนั้นลงมาทำไอศกรีมข้าวเหนียว ทำข้าวหลาม ทำขนมนางเล็ดที่ทำจากข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง คิดค่าใช้จ่ายหัวละ 600 บาท พร้อมข้าว 1 มื้อ เปิดรับตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป สนใจติดต่อกำนันสังวรได้ที่ 08-9576-4937 ด้วยอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย ทางสำนักงานพาณิชย์จ.เลย จึงเสนอขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications-GI) รวมทั้งข้าวเหนียวแดงเมืองเลยด้วย

ข้าวเหนียวทั้งสองชนิดนี้นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองเลย เชื่อว่าถ้าได้ GI ย่อมจะทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

สร้างศีล บุญสอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน