ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ทรงพบว่าปัญหาการขาดสารไอโอดีนจนเกิดเป็นโรคคอพอก นั้นยังมีอยู่มากมายหลายพื้นที่ และยามที่เสด็จพระราชดำเนิน ไปในท้องที่ทุรกันดารนั้นมีผู้คนที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทจำนวนมากที่เป็นโรคนี้ และขอรับการรักษาจากคณะแพทย์หลวงที่ตามเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระเมตตาและสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนเป็นอย่างมาก ถึงกับเคยทรงนำเกลือผสมไอโอดีนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทรงแจกประชาชนในถิ่นทุรกันดารมาแล้วหลายครั้ง

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2536 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชมกิจกรรมของวิทยาลัย เทคนิคเชียงใหม่ ซึ่งในการนี้ได้ทอดพระเนตรการสาธิตการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีน ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้ผลิตขึ้นและน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานให้แก่จังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ที่ราษฎรประสบปัญหาการขาดสารไอโอดีน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริว่า

“…ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาของการขาดสารไอโอดีนของราษฎรโดยการสำรวจพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ถึงปัญหา และความต้องการเกลือ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นที่จะมีปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกันโดยเฉพาะต้องสำรวจ เส้นทางเกลือว่าผลิตจากแหล่งใด ก็น่าที่จะนำเอาไอโอดีนไปผสมกับแหล่งผลิตต้นทางเกลือเสียเลยทีเดียว…”
2
วิธีการดำเนินการตามแนวพระราชดำริ เส้นทางเกลือ

1.ศึกษาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสารไอโอดีน โดยการค้นหาเส้นทางเกลือ ตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึง ผู้บริโภค

2.นำไอโอดีนไปผสมที่แหล่งผลิตหรือแหล่งจัดจำหน่ายโดยเติมให้ฟรีก่อน หากภายหลังพ่อค้าและภาคเอกชนเกิดศรัทธาสมทบ ก็สามารถทำได้

3.หากบางท้องที่ไม่อาจเติมไอโอดีนที่แหล่งต้นทางได้ ทรงแนะนำว่าควรนำเครื่องเกลือผสมไอโอดีนไปบริการในลักษณะหน่วยบริการเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่บ้านต่างๆ กล่าวคือ ใครมีเกลืออยู่แล้วก็ผสมให้ฟรี หรืออาจเอาเกลือธรรมดามาแลกกับเกลือผสมไอโอดีนก็ได้

4.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงกำหนดให้ใช้อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภอต้นแบบในการศึกษาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสารไอโอดีนว่ามีเส้นทางเกลือ มาจากแหล่งใด

จากการค้นคว้าเส้นทางเกลือ ตั้งแต่เดือนเม.ย.2536 เป็นต้นมาสรุปได้ว่า

-เกลือผสมไอโอดีนส่วนใหญ่เป็นเกลือป่น

-เกลือที่ไม่ได้ผสมสารไอโอดีนเพิ่มเข้าไปจะมีทั้งเกลือป่นและเกลือเม็ด

-เกลือป่นส่วนใหญ่เป็นเกลือสินเธาว์จากภาคตะวันออก เฉียงเหนือ และเกลือเม็ด

-ส่วนใหญ่เป็นเกลือสมุทรจากสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี

เส้นทางเกลือที่ไม่ผสมไอโอดีน มีแหล่งผลิตและจำหน่ายที่สำคัญ รวม 4 เส้นทาง คือ

1.ส่วนที่ 1 จากจังหวัดสมุทรสาคร เป็นแหล่งรวมเกลือสมุทรจากเพชรบุรีและสมุทรสงครามส่งไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ และ ส่งขายต่อร้านค้าย่อยในอำเภอสะเมิง

2.ส่วนที่ 2 พ่อค้าเชียงใหม่ซื้อตรงจากสมุทรสาคร โดยรถ สิบล้อบรรทุกขึ้นมาแล้วมาบรรจุใส่ซองพลาสติกใส นำขึ้นรถปิกอัพเร่ขายในอำเภอสะเมิงและพื้นที่ใกล้เคียง

3.ส่วนที่ 3 พ่อค้าจากมหาสารคาม มีการซื้อเกลือสินเธาว์ป่นแถบอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และย่านหนองกวั่ง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร มาบรรจุซองที่จังหวัดมหาสารคาม แล้วนำเกลือไปเร่ขายทั่วประเทศโดยใช้รถหกล้อ ซึ่งมีการส่งขายถึงเชียงใหม่ และเข้าสู่อำเภอสะเมิงในที่สุด

4.ส่วนที่ 4 จากกรุงเทพมหานคร โดยพ่อค้ารายใหญ่จัดส่งไปขายที่เชียงใหม่และแถบใกล้เคียงโดยใช้เกลือสมุทรธรรมดา

วิธีการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนหรือเกลืออนามัย

โดยปกติแล้วคนเราต้องการธาตุไอโอดีนวันละประมาณ 100-150 ไมโครกรัมในปริมาณเกลือที่บริโภคต่อวัน เฉลี่ย 5.4 กรัม

อัตราส่วนเกลือไอโอดีน ต้องใช้ปริมาณไอโอเดตที่เสริมในเกลืออัตราส่วน 1:20,000 โดยน้ำหนักเกลือ 1 กิโลกรัม ต้องเสริมโพแทสเซียมไอโอเดต 50 มิลลิกรัม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับไอโอดีนวันละ 150 ไมโครกรัมต่อคนต่อวัน

โพแทสเซียมไอโอเดต 1 กิโลกรัม ผสมเกลือได้ 18 ตัน ซึ่งมีหลายวิธีการ ดังนี้

การเสริมไอโอดีนในเกลือโดยใช้วิธีผสมเปียก

โดยการใช้ผงไอโอเดตปริมาณ 25 กรัม ผสมกับน้ำจำนวน 1 ลิตร ซึ่งผลการทดลองของวิทยาลัยเทคนิคสกลนครสามารถผลิตเกลือผสมไอโอดีนได้ครั้งละ 60 กิโลกรัม โดยการพ่นฉีดแต่ละครั้ง 60 กิโลกรัม

โดยการพ่นฉีดแต่ละครั้ง จะใช้ไอโอดีนน้ำผสมประมาณครั้งละ 200 ซีซี ต่อเกลือจำนวน 60 กิโลกรัม ซึ่งพบว่าได้ความ เข้มข้นของไอโอดีนสม่ำเสมอดี

การเสริมเกลือไอโอดีนแบบผสมแห้ง

เป็นเครื่องผสมเกลือไอโอดีนที่ดำเนินการได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงโดยใช้วิธีผสมแห้งและใช้หลักการทำงานของเครื่องผสมทรายหล่อ และหลักการทำงานของเครื่องไซโลผสมอาหารสัตว์มาเป็นการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีน ซึ่งใช้สะดวก กะทัดรัด ประหยัด ผสมได้ครั้งละ 60 กิโลกรัม โดยใช้ ใบกวนหมุนภายในถังที่ตรึงอยู่กับที่ โดยให้ความเร็วของการหมุนใบกวนสัมพันธ์กับลักษณะของใบกวนที่วางใบให้เป็นมุมเอียง เพื่อให้เกลือไหลและเกิดการพลิกตลอดเวลา ใช้เวลาในการคลุก 2 นาที โดยการหมุนทวนเข็มนาฬิกา

ในกรณีที่มีความประสงค์จะผสมเกลือไอโอดีนด้วยตนเอง ก็สามารถทำได้ในอัตราส่วนดังกล่าว โดยใช้กระบะและไม้พายผสมโดยใช้แรงคนใช้เวลาผสมประมาณ 20-30 นาที หรือนานกว่าจึงจะได้ส่วนผสมที่ใช้การได้

เส้นทางเกลือ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากจะช่วย ขจัดโรคขาดไอโอดีนในประเทศไทยแล้ว ยังช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงห่วงใยในทุกวิถีแห่งการดำรงชีพของมวลพสกนิกรทั้งหลายโดยแท้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระมหากรุณาธิคุณในการวินิจฉัยปัญหา และพระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนหรือโรคเอ๋อในประเทศไทย เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก สภานานาชาติเพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน (International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders, ICCIDD) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง ICCIDD ในวันที่ 25 มิ.ย. 2540 และคณะรัฐมนตรีมีมติลงวันที่ 27 ส.ค.2545 เห็นชอบให้วันที่ 25 มิ.ย.ของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ

การดำเนินการสู่ความยั่งยืนโดยดำเนินการผ่านกระบวนการ ขับเคลื่อนชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน

ข้อมูลล่าสุด ปี 2558 พบว่ามีชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนที่ผ่านเกณฑ์การประเมินรับรอง จำนวน 42,665 แห่ง จากชุมชน/หมู่บ้านที่ร่วมกระบวนการ 52,531 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 81.2 ซึ่งการดำเนินการมี เป้าหมายให้ทุกชุมชนหมู่บ้านดำเนินการผ่านเกณฑ์ชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีน ร้อยละ 100 ภายในปี 2560 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้

เพื่อขจัดปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยให้หมดไป

ที่มา- มูลนิธิชัยพัฒนา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน