“รายงานพิเศษ”

โรคเบาหวานเป็นเรื่องใกล้ตัว คนที่ไม่มีกรรมพันธุ์ก็สามารถเป็นได้

พญ.รัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคเบาหวานเกิดจากเซลล์ร่างกายผิดปกติในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงาน ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างโดยตับอ่อน มีหน้าที่ส่งต่อน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆได้เพียงพอ ร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ทำให้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งพบได้ทุกเพศทุกวัย

โรคนี้ถือเป็นโรคที่น่ารำคาญโรคหนึ่ง เพราะเมื่อเป็นแล้วจะส่งผลในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น ตาบอด ไตวายเรื้อรัง สูญเสียขา หลอดเลือดหัวใจอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ และยังรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ หากไม่ควบคุมและรักษาอย่างถูกต้อง

ดังนั้น ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งควบคุมได้เร็ว จะช่วยชะลอผลแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้

พญ.รัตนพรรณกล่าวอีกว่า โรคเบาหวานแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดคือ ชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มักพบในเด็กหรือผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี รักษาโดยการฉีดอินซูลิน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานและการออกกำลังกาย

ชนิดที่ 2 พบมากในคนไทย เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่มากนัก ส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งอายุที่เพิ่มขึ้นมีส่วนทำให้การทำงานของตับอ่อนลดประสิทธิภาพลง หากเป็นแล้วรักษาได้โดยการทานยาและฉีดยา พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานและการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่แล้วคนอ้วนมักเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

ชนิดที่ 3 โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการตั้งครรภ์ ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน มีแนวโน้มที่จะมีระดับน้ำตาลสูงขึ้น

ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป หรือคุณแม่ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน ต้องตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ 2 และ 3 เพราะคุณแม่เป็นเบาหวานจะส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์

การรักษานั้นจะใช้ยาที่มีผลข้างเคียงกับคุณแม่และทารกน้อยที่สุด และดูแลเรื่องการรับประทานอาหารอย่างใกล้ชิด

ชนิดที่ 4 โรคเบาหวานชนิดอื่นที่มีสาเหตุเฉพาะ ได้แก่ ความผิดปกติทางพันธุกรรม ความผิดปกติของฮอร์โมน ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์หรือสารเคมี เป็นต้น การรักษาจะพิจารณาจากอาการของแต่ละบุคคล

อาการของโรคเบาหวานที่สังเกตได้และควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วคือ ปัสสาวะบ่อย, น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ, กระหายน้ำบ่อย กินจุมากกว่าปกติ, ชาปลายมือปลายเท้า อ่อนเพลีย, คลื่นไส้ เวียนหัว หงุดหงิด และเกิดอาการตามัวบ่อยๆ รู้สึกไม่มีสมาธิเพิ่มมากขึ้น

เบาหวานป้องกันได้เมื่อยังไม่เป็น ได้แก่ เลี่ยงของหวาน รับประทานให้ถูกสัดส่วน เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ และรักษาน้ำหนักให้คงที่เป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสม

หากป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว ต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ, ให้ความร่วมมือในการรักษา รับประทานยาและปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด, ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควบคุมอาหาร เลี่ยงของหวาน ผลไม้หวาน ลดไขมันและอาหารรสเค็ม เน้นการรับประทานผักให้มาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรดูแลระดับน้ำตาลอย่างใกล้ชิด ควบคุมความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือด

ฉะนั้นควรดูแลตนเอง ไม่ติดกับรสหวาน หรือไปออกกำลังกาย หากระวังตั้งแต่วันนี้จะช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานระยะยาวได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน