“เสถียร จันทิมาธร”

สามก๊กสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า กลับมาถึงเมืองกิจิ๋ว จึงเอาหนังสือนั้นให้แก่อ้วนเสี้ยว แล้วแจ้งเนื้อความว่า

“บัดนี้ซุนเซกตายแล้ว ซุนกวนได้เป็นเจ้าเมือง”

“ฝ่ายโจโฉก็คิดอ่านเกลี้ยกล่อมเอาใจแล้วให้ส่งตราสำหรับที่เจ้าเมืองมาให้ซุนกวน บัดนี้ซุนกวนก็เป็นใจเข้าด้วยโจโฉ”

อ้วนเสี้ยวเห็นหนังสือ แลได้ฟังตันจิ๋วบอกดังนั้นก็โกรธ

จึงเกณฑ์ทหารในเมืองกิจิ๋ว เมืองอิจิ๋ว เมืองเซียงจิ๋ว เมืองเป๋งจิ๋ว ได้ทหารทั้ง 4 หัวเมือง 70 หมื่นเศษก็จะยกไปตีเมืองฮูโต๋

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย บรรยายต่อว่า

ก่อนที่อ้วนเสี้ยวจะเคลื่อนทัพ เตียนห้อง ซึ่งต้องจำอยู่ในคุกมีหนังสือทัดทาน อ้วนเสี้ยวว่า

“ในระยะนี้ เราควรจะคอยทีอยู่เงียบๆ ก่อนดีกว่า หาควรจะด่วนยกทัพไปไม่ น่าจะเสียทีแก่ข้าศึกเป็นมั่นคง”

ฮองกี๋ ที่ปรึกษาพูดว่า “นายกำลังจะยกทัพไปทำความร่มเย็นเป็นสุข และจรรโลง ศีลธรรมแก่มวลมนุษย์เหตุไฉนไอ้เตียนห้องจึงมากล่าวถ้อยคำอันเป็นอวมงคล เช่นนี้เล่า”

อ้วนเสี้ยวโกรธนักจะฆ่าเตียนห้องเสีย

ทหารและขุนนางทั้งปวงขอชีวิตไว้ อ้วนเสี้ยวพูดด้วยความแค้นใจว่า “รอไว้ให้ข้าปราบไอ้โจโฉให้ได้เสียก่อนจะกลับมาชำระโทษมันเสีย”

ว่าแล้วสั่งให้เคลื่อนทัพ ธงทิวปลิวไสว กระบี่และดาบแน่นหนาดัง ป่าใหญ่

นั่นเป็นการศึกอย่างที่หนังสือสามก๊กฉบับหลอก้วนจงระบุไว้ในตอนที่ 30 อ้วนเสี้ยวเสียทัพที่กัวต๋อ โจโฉเผาเสบียงที่อัวเจ๋า

เป็นสถานการณ์ในปี ค.ศ.200

บ่งบอกให้รู้ว่า แม้โจโฉจะดำเนินกโลบาย “บีบบังคับจักรพรรดิแล้วใช้ชื่อของจักรพรรดิมาออกคำสั่งกับบรรดาเจ้าผู้ครองแคว้น” ตามข้อเสนอของมอกายและซุนฮก

แต่ดุลกำลังโจโฉยังเป็นรองอ้วนเสี้ยว

ต่อเมื่อกุมชัยชนะจากสงคราม กัวต๋อระหว่าง ค.ศ.199-200 จึงเข้าไปยึดกุมอำนาจเหนือ จงหยวนได้อย่างเต็มที่

ผลสะเทือนจากสงคราม กัวต๋อจึงลึกซึ้ง กว้างขวาง

หากศึกษาลำดับเหตุการณ์สำคัญจากหนังสือ “อินไซด์สามก๊ก (ฉบับอ่านสามก๊กอย่างไรให้แตกฉาน)” ของ ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย

ก็จะมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงภายในแต่ละจุด แต่ละแคว้น

ค.ศ.200 กองทัพอ้วนเสี้ยวพ่ายแพ้ต่อโจโฉที่กวนตู้ (กัวต๋อ)

ค.ศ.201 เล่าปี่หนีไปพึ่งใบบุญเล่าเปียว

ค.ศ.203 ซุนกวนโจมตีหองจอแต่พ่ายแพ้

ค.ศ.204 เมื่อโจโฉประกาศไม่เก็บภาษีราษฎรในเขตลำน้ำหวางเหอ (ฮวยโผ) เป็นเวลา 1 ปี ก็มีผู้คนแห่มาสวามิภักดิ์เป็นพวก เสริมกำลังทหารจำนวนมาก

ค.ศ.205 โจโฉมีอิทธิพลบารมีเพิ่มขึ้น และยังได้ปกครองมณฑลสำคัญทาง ภาคเหนือ 4 มณฑล ได้แก่ จี้โจว ชิงโจว โยวโจว และปิงโจว

ค.ศ.206 หลังจากได้ปกครองเมืองสำคัญทางภาคเหนือแล้ว โจโฉวางแผนขยายอิทธิพลทางภาคใต้ โดยใช้วิธีการอภัยโทษ และให้โอกาสคนที่เคยคิดปรปักษ์เป็นศัตรู กลับตัวกลับใจมาร่วมเป็นพวกเพื่อเสริมกำลังต่อไป

ค.ศ.207 โจโฉมีอำนาจปกครองภาคเหนือทั้งหมดของจีน

ค.ศ.208 เล่าปี่ได้ขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา

โจโฉได้รับแต่งตั้งเป็นมหาอุปราชและกรีธาทัพลงใต้ เล่าเปียวตาย เล่าจ๋องบุตร เล่าเปียวยกเมืองให้โจโฉ เล่าปี่แพ้โจโฉที่เนินฉางปั่นจึงหนีไปเมืองกังแฮ

ขงเบ้งไปเจรจาให้ซุนกวนรบโจโฉ

เหตุการณ์จากค.ศ.200 มีการเปลี่ยนแปลงในราชอาณาจักรฮั่นเป็นอย่างมาก อำนาจโจโฉใหญ่โตมากเป็นลำดับ เล่าปี่หนีจากจงหยวนมาอยู่กับเล่าเปียวที่เมือง เกงจิ๋ว

เมื่อโจโฉรุกมาทางใต้ก็สามารถยึดเกงจิ๋วได้

เกงจิ๋วอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งไม่ว่า “นโยบายบนยี่ภู่” ของโลซกก็เน้น ไม่ว่า “แถลงการณ์ หลงจง” ของขงเบ้งก็เน้นอย่างหนักแน่น

โจโฉจึงกลายมาเป็นศัตรู “ร่วม” ทั้งของซุนกวนและเล่าปี่

กำลังของซุนกวนเป็นรองต่อกำลังของโจโฉอย่างแน่นอน กำลังของเล่าปี่แทบไม่ต้องกล่าวถึงเพราะอยู่ในห้วงแห่งการซัดเซพเนจร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน