“ความรุนแรงในเด็ก” ที่หลายคนเข้าใจคือการทำร้าย ทารุณทางร่างกาย ทั้งที่จริงๆ แล้วการใช้คำพูดที่รุนแรง ข่มขู่ เยาะเย้ย หรือแสดงท่าทีที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่ได้รับความรัก ไร้คุณค่า เป็นความรุนแรงที่สร้างความเจ็บปวดให้อารมณ์และจิตใจไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ยิ่งกว่านั้น ความรุนแรงทั้งหมดอาจส่งผล กระทบระยะยาวกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ซึ่งอาจนำความรุนแรงเหล่านี้ไปใช้กับผู้อื่นหรือมีความเจ็บปวดซุกซ่อนอยู่ภายใน

“ขบถเรียน” องค์กรที่ทำหน้าที่สื่อสารและสร้างพื้นที่การเรียนรู้เรื่องชีวิตและจิตใจ จึงสร้างสรรค์ งานวันเด็กสำหรับผู้ใหญ่” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่เผยแพร่ความคิด หลักการ แนวทางปฏิบัติในการเลี้ยงดูและอยู่ร่วมกับเด็กในเชิงบวก สร้างความตระหนักแก่สังคมถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงในเด็ก ภายใต้งาน “Rebel Learner for children saving” ในวันเด็กที่ผ่านมา ที่ร้าน Round about cafe & work space ย่านเอกมัย 16

บรรยากาศงานในช่วงเช้า เปิดด้วยเสียงดนตรีจาก “Ting A Tong”ต่อด้วยการเสวนา “วิธีเลี้ยงดูและอยู่กับเด็กอย่างมีความสุข” โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และ ฐปนา บางยี่ขัน คุณแม่ที่ทำ Home School และเลี้ยงลูกเชิงบวก

ช่วงบ่ายถือเป็นไฮไลต์สำคัญของงาน คือ “การเปิดประมูลผลงานศิลปะ” ที่บอกเล่าถึงการเลี้ยงดูและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก หลายผลงานกลั่นออกมาจากประสบการณ์วัยเด็กของตัวศิลปินเอง รายได้จากการประมูลทั้งหมดจะมอบให้มูลนิธิบ้านนกขมิ้น และ มูลนิธิอื่นๆ ที่ช่วยเหลือเด็กที่เคยถูกทำร้าย

ผลงานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่สะท้อนความรุนแรงจากคนที่รักได้อย่างแจ่มชัด คือ “Scar Gooseberry” ที่ล้อมาจาก Star Gooseberry หรือ “มะยม” โดยศิลปินต้องการสะท้อนถึงวัฒนธรรมไทยที่เลี้ยงลูกด้วยคติ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เพราะสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ยุคก่อนมักใช้นำมาตีลูกคือก้านมะยม

การทำโทษด้วยก้านมะยมจะสร้างรอยแผลเส้นยาวสีแดงปริที่ทั้งเจ็บทั้งคัน ซึ่งไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดทางกายเท่านั้นแต่ยังสร้างรอยแผลในใจและฝังคติความชอบธรรมในความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น ศิลปินจึงหยิบก้านมะยมมารูดใบทิ้งในแบบที่ตัวเองเคยเข็ดขยาดเมื่อวัยเด็ก มาอัดกรอบร่วมกับดอกไม้แห้ง สีแดงซึ่งแทนรอยแผล เพื่อถ่ายทอดภาพของรอยทางก้านมะยมบนน่องและความเจ็บปวดขณะถูกลงทัณฑ์

อีกผลงานหนึ่งที่ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจ จากเรื่องราวในวัยเด็กของตัวเองเช่นกันคือ “Let me cry” หรือ “ปล่อยให้ฉันร้องไห้เถอะ” เพื่อสื่อถึงความรู้สึกของเด็กที่อยากให้ผู้ใหญ่ปล่อยให้เขาระบายความเศร้าผ่านหยดน้ำตาบ้าง

ทีเค-พัฒนรัตน์ เจริญทับสิงห์ คุณครูสอนภาษา เจ้าของผลงานเล่าให้ฟังว่า “ตอนเด็กๆ หลายคนคงเคยเจอคำพูดว่าหยุดร้องเดี๋ยวนี้นะ ถ้าเธอร้องไห้จะโดนหนักกว่าเดิม ไม่ว่าจะจากพ่อแม่ที่บ้านหรือครูที่โรงเรียน เมื่อโตมาเราพอรู้เหตุผลว่าที่ผู้ใหญ่พูดแบบนั้นเพราะเขาอาจทำอะไรไม่ถูกหรือรู้สึกผิดที่มีส่วนทำให้เด็กร้องไห้ แต่ตอนเด็กเราคิดว่านี่เป็นการสั่ง กระทั่งเราบอกตัวเองว่าห้ามร้องไห้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรจนกลายเป็นคนร้องไห้ยาก”

ทีเคบอกต่อว่า แต่หลังลงมือทำงานศิลปะชิ้นนี้ พร้อมกับเล่าความรู้สึกที่ติดค้างในเรื่องดังกล่าวให้แม่ฟัง เธอก็เริ่มร้องไห้ได้ง่ายขึ้น คล้ายกับว่างานศิลปะชิ้นนี้บรรเทาสิ่งที่อยู่ ในใจของเธอ

“เราอยากจะเล่าเรื่องเพื่อสื่อสารความรู้สึกของศิลปินสู่สังคมว่า ความรุนแรงในเด็กไม่ใช่แค่การตีหรือทำร้ายร่างกาย แต่คำพูด การกระทำ วิธีการอาจทำให้เด็กเสียใจโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องตีด้วยซ้ำ แล้วสิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นผลกระทบในใจจนกระทั่งเขาโตก็เป็นได้”

ด้าน เวย์-เวสารัช โทณผลิน นักเขียน นักเล่าเรื่องอิสระ และผู้ก่อตั้งขบถเรียน กล่าวว่า ผลที่ได้รับจากการจัดงานครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในแง่การเยียวยาจิตใจของศิลปินเองและการสื่อสารเรื่องราวให้เกิดความเข้าใจในวงกว้าง จากตัวศิลปินไปสู่ผู้เสพงานศิลปะ

กิจกรรมนี้จึงเหมือนเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ทุกคนมาเรียนรู้เรื่องภายในจิตใจร่วมกัน แก้ไขปัญหาของกันและกัน และร่วมเติบโตไปด้วยกันอย่างมีความสุข

ผู้ที่สนใจรับชมและร่วมประมูลได้ที่ Facebook Page : ขบถเรียน หรือชมผลงานจริงได้ที่ร้าน Round about เอกมัย 16 จนกว่าการประมูลจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค. 2561

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน