“น้าชาติ ประชาชื่น”

[email protected]

น้าเคยตอบเรื่องพระศรีสรรเพชญ์ ว่า อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เสนอไว้ว่า เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นเศียรของพระศรีสรรเพชญ์ พม่าไม่ได้เผาเอาทองไปหรือ ทำไมยังมีเหลือ

หมาย

ตอบ หมาย

นักวิชาการ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ ผู้ตั้งข้อสันนิษฐานลือลั่นวงวิชาการ ว่า เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปสำคัญแห่งกรุงศรีอยุธยาที่เชื่อกันสืบมาว่าถูกพม่าเผาลอกทองเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2

มติชนมีรายงานเรื่องนี้ว่า อาจารย์รุ่งโรจน์กล่าวว่า “เกียรติภูมิของมูลนายครั้งกรุงศรีอยุธยาที่มีชีวิตรอดมาจนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ที่คนในยุคนี้มโนนึกคล้อยตามว่าการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มีผลกระทบสำคัญที่เราไม่ควรให้อภัยคือเรื่องกรุงอังวะเผาพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อลอกเอาทองไปทั้งองค์-แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่”

ระบุไม่เชื่อว่า พม่าเผาพระศรีสรรเพชญ์ลอกทองไป อีกทั้งเมื่อได้เห็นเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร คัดเลือกมาจัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เมื่อพ.ศ.2558 ก็จุดประกายให้คิดว่า นี่คือเศียรพระศรี สรรเพชญ์ เนื่องด้วยข้อมูลจากทะเบียนระบุว่า ได้มาจากพระวิหารหลวงของวัดพระศรีสรรเพชญ์ (ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา) โดยไม่พบร่องรอยถูกเผา นำไปสู่การค้นคว้า อย่างจริงจังก่อนจะนำเสนอแนวคิดดังกล่าวที่ พช.พระนคร เมื่อ 19 มีนาคม 2559

อธิบายว่า เหตุที่สันนิษฐานว่าเศียรดังกล่าวคือเศียรพระศรีสรรเพชญ์ เป็นไปด้วยเหตุผลหลายประการ เริ่มจากเรื่องขนาดเศียรที่มีขนาดใหญ่มาก จึงตัดประเด็นที่ว่าเป็นเศียรของพระพุทธรูปในศาลารายรอบ มหาสถูปออก เนื่องจากพื้นที่ประดิษฐานไม่เพียงพอ ส่วนวิหารพระโลกนาถก็เป็นไปไม่ได้ เพราะพระโลกนาถเป็นพระพุทธรูปประธานก็ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพน ท่าเตียน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เช่นเดียวกับพระพุทธรูปในอุโบสถ และวิหารป่าเลไลยก์

นอกจากนี้ ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ยังกล่าวการหล่อพระศรีสรรเพชญ์ในจุลศักราช 862 ตรงกับพ.ศ.2043 ระบุถึงขนาดพระวรกายและข้อมูลอื่นๆ ไว้ค่อนข้างละเอียด จากการศึกษาลักษณะพระพักตร์และขนาดของพระพุทธรูปที่ พช.พระนคร พบว่ามีความสอดคล้องกัน ทั้งยังมีร่องรอยหลักฐานในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมที่ทำให้ทราบว่า พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวัดพระศรีสรรเพชญ์ คือพระศรีสรรเพชญ์ สอดคล้องกับขนาดของเศียรพระพุทธรูปที่ พช.พระนคร

เศียรพระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์เป็นรูปไข่ พระหนุค่อนข้างเสี้ยม กึ่งกลางพระนลาฏมีพระอุณาโลม พระขนงโก่ง มีไรพระศกเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เม็ดพระศกขนาดค่อนข้างเล็ก แม้ว่าส่วนที่เป็นพระเกตุมาลาจะหักหายไปแต่ก็น่าที่จะเชื่อได้ว่าแต่เดิมมีเปลวพระรัศมี ถ้าพิจารณาจากพุทธศิลปะพบว่ามีความใกล้เคียงกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนกลาง จึงยิ่งมั่นใจว่าคือเศียรพระศรีสรรเพชญ์

สำหรับประเด็นอังวะ หรือพม่า เผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเชื่อกันสืบมา อาจารย์รุ่งโรจน์ระบุว่าเป็นเอกสารในยุคหลังจากกรุงแตกไปนานมาก จึงถือว่าหลักฐานอ่อน อีกทั้งเมื่อเปิดตำราพิจารณาจุดหลอมละลายของ “สำริดหุ้มทอง” พบว่าต้องใช้ความร้อนมากกว่า 1,064 องศาเซลเซียส แล้วจะต้องใช้เชื้อเพลิงมากแค่ไหน

อีกทั้งเหตุใดผนังวิหารหลวงอันเป็นที่ประดิษฐานพระศรี สรรเพชญ์จึงไม่พังทลาย หรือกลายสภาพเป็นเหมือนเตาเผาภาชนะดินเผาที่ผ่านความร้อนสูง และเมื่อพลิกรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีที่ฐานชุกชีพระศรีสรรเพชญ์ ก็ไม่พบร่องรอยชั้นดินที่ถูกเผาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีการเผาพระพุทธรูปดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้ทำเพื่อลอกทอง ซึ่งต้องใช้อุณหภูมิสูงมากดังที่กล่าวไปแล้ว ทว่าเผาเพื่อทำลายกรุงศรีอยุธยาในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้ผู้คนขวัญเสียมากกว่า

เมื่อเป็นข้อสันนิษฐานใหม่ที่สั่นสะเทือนความเชื่อชุดเก่า แน่นอนต้องมีข้อโต้แย้ง ฉบับพรุ่งนี้ (27 ก.พ.) อ่านกันต่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน