สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร นำนิสิตนักศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่มีผลการเรียนดีจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 42 คน เข้ารับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดี และผู้ได้รับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณโครงการประกวดตำราดีเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ 2 คน เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

หนุ่มสาวนักศึกษาไทยคนเก่งและเปี่ยมจิตอาสา ร่วมสะท้อนความหวังและพลังแห่งอนาคตของประเทศชาติ

เริ่มที่ นภัสสร แตงเกตุ นักศึกษาหญิงจากอำเภอโพธิ์ประทับ ช้าง จังหวัดพิจิตร กำลังศึกษาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่ารู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นในพระมหากรุณาธิคุณฯ ที่ได้รับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดีในครั้งนี้ หลักการดำเนินชีวิตได้นำแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 10

ซึ่งทรงเน้นย้ำเรื่อง จิตอาสา การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน โดยตนเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพี่ติวน้องของมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นทุกๆ ปี และออกค่ายอาสาพัฒนาชุมชนโดยใช้ความรู้ทางวิศวกรรมมาพัฒนาชุมชน เช่น สร้างห้องสมุด ปรับปรุงอาคารต่างๆ ในชุมชน

“ในอนาคตอยากทำงานเป็นวิศวกรด้านโลจิสติกส์ซัพพลายเชนที่กำลังมีบทบาทสำคัญในโลกที่เชื่อมต่อถึงกัน คนไทยของเรานั้นไม่แพ้ชาติใดในโลก ขอเพียงเราร่วมมือกัน ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ประเทศก็จะก้าว สู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ได้ในไม่ช้า”

ด้าน ชยุตม์ แตรไตรรงค์ หนุ่มนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยได้รับรางวัล Engineering Student Talent Award กล่าวว่า

เหรียญพระราชทานรางวัลเรียนดีจากในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นแรงบันดาลใจและเครื่องเตือนใจให้เรามุ่งมั่นคิดดีทำดีเสมอ วิทยาการเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ตราบใดที่เราใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนพอเพียงได้

ก็จะเกิดสมดุลรอบด้านดังหลักปรัชญาพอเพียงของรัชกาลที่ 9 และแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งนำมาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

“โลกก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ผมใฝ่ฝันเป็นอาจารย์สอนด้านเอไอหุ่นยนต์ เพราะนับวัน เอไอและหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันและการทำงานในอนาคตมากยิ่งขึ้น”

มาที่ จักริน มาลัยโรจน์ศิริ หนุ่มนักเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า โรงเรียนนายเรือ กล่าวว่ารู้สึกภูมิใจที่สุดในชีวิตที่ทำให้พ่อและแม่ภูมิใจในตัวเรา ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถถ้าตั้งใจจะทำ ในชีวิตวัยเรียนยึดหลักคำสอนของ ร.9 และแนวทางของ ร.10 ในเรื่องความเจริญของประเทศชาติย่อมมาจากความเกื้อกูลกันและทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

“ผมฝันอยากทำงานเป็นทหารเรือด้านคอมพิวเตอร์ เพราะชื่นชอบและคิดว่าเทคโนโลยีทางเรือก้าวหน้ารวดเร็วมาก เช่น เรือขนส่งไร้คนขับ เรือพลังงานแสงอาทิตย์ คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์และช่วยกันพัฒนาก้าวสู่สังคมอนาคตยุค 4.0”

ปิดท้ายที่ ธรรศ พิงพิทยากุล หนุ่มจากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ก่อนหน้านี้เคยได้รับรางวัลทุนภูมิพล รางวัลจากการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ เมืองฮาบิน ประเทศจีน และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขัน 24 hr. of Innovation Thailand ครั้งที่ 1 ธรรศกล่าวว่ารำลึกถึงคำสอนของ ร.9 อย่างขึ้นใจที่ว่า “กลับมาพัฒนาประเทศชาติ” คนไทยทุกคนจากทุกภาคส่วนพัฒนาตัวเองให้เก่งและกลับมาพัฒนาประเทศชาติต่อไป ในอนาคตถ้าเรียนต่อในต่างประเทศก็จะกลับมาเปิดธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตร เพราะประเทศไทยเราเป็นครัวของโลก แต่ที่ผ่านมาเทคโนโลยีเกษตรยังล้าหลัง ถ้าเราคิดค้นและพัฒนาได้เองจะช่วยให้เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

“เคล็ดลับเรียนดีคือแบ่งเวลาให้เป็น รู้ว่าอะไรควรจะทำเวลาไหน อะไรควรทำก่อนหลัง ถ้าเป็นวิชาเรียนผมจะกลับมาอ่านซ้ำและ ทำบทสรุป 1 รอบ ใครก็สามารถนำไปใช้ได้เพราะง่ายและได้ผลดี” ธรรศกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน