เรือยูเอสเอส เล็กซิงตัน (USS Lexington) หนึ่งในเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก ของประเทศสหรัฐ อเมริกา ที่เสียหายจากการสู้รบและจมลงสู่พื้นมหาสมุทรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จมดิ่งนิ่งเงียบอยู่ใต้ท้องทะเลคอรัล มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลียเป็นเวลานานกว่า 76 ปี

กระทั่งมีผู้ค้นพบเป็นครั้งแรก!!

คณะนักค้นหาที่ค้นพบซากเรือยูเอสเอส เล็กซิงตัน หาใช่ใครอื่นไม่ แต่เป็นคณะของ 5 ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการชื่อก้องโลกตระกูล “วินโดวส์”

ทีมงานใช้เรือดำน้ำ อาร์/วี เพเทรล ดำดิ่งลึกลงไปกว่า 3,000 เมตร ห่างจากชายฝั่งของออสเตรเลียไปราว 800 กิโลเมตร พบซากของยูเอสเอส เล็กซิงตัน พร้อมเครื่องบินรบอีกหลายรุ่นอยู่ที่ก้นทะเลในสภาพที่สมบูรณ์อย่างน่าตื่นตะลึง

ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนต่างๆ พร้อมตราสัญลักษณ์ดาวห้าแฉกของกองทัพเรือสหรัฐ

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ยูเอสเอส เล็กซิงตัน มีเครื่องบินรบอยู่ 35 ลำ ตอนที่จมลงสู่ท้องทะเล โดยคณะสำรวจพบว่าในจำนวนนี้ 11 ลำอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

อาทิ เครื่องบินทิ้งตอร์ปิโด รุ่นดักลาส ทีบีดี-1 เดวาสเตเตอร์ เครื่องบินทิ้งระเบิด รุ่นดักลาส เอสบีดี-3 ดอนต์เลสส์ และเครื่องบินขับไล่ รุ่นกรัมแมน เอฟ 4 เอฟ-3 ไวลด์ แค็ตส์

เครื่องบินรบลำหนึ่งมีตราเจ้าแมวเฟลิกซ์ ตัวละครแมวชื่อดังจากการ์ตูน เฟลิกซ์ เดอะ แค็ต ตั้งแต่ช่วงภาพยนตร์เงียบในสมัยต้นศตวรรษที่ 20 พร้อมรูปธงชาติญี่ปุ่น 4 ภาพ อยู่ใกล้กัน

คาดว่าสิ่งที่บ่งบอกถึงจำนวนเครื่องบินรบจักรวรรดิญี่ปุ่นที่โดนเครื่องลำนี้ยิงตก เรือดำน้ำของคณะผู้ค้นหายังเก็บภาพและอัดวิดีโอในหลายส่วนของเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ อาทิ ป้ายชื่อเรือ และปืนต่อสู้อากาศยานที่เกรอะกรังไปด้วยตะไคร่น้ำ

โรเบิร์ต คราฟต์ ผู้อำนวยการคณะสำรวจของ นายอัลเลน กล่าวว่า ยูเอสเอส เล็กซิงตัน มีความสำคัญอันดับหนึ่งต่อการค้นหาของคณะ เนื่องจากเป็นหนึ่งในเรือธงที่สหรัฐสูญเสียไปในสงครามโลกครั้งที่สอง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการวางแผนนานกว่า 6 เดือน

ในอดีตทางคณะสร้างผลงานการค้นพบซากเรือรบอื่นๆ ของสหรัฐมาแล้ว อาทิ ยูเอสเอส อินเดียนาโปลิส และเรือครุยเซอร์ใหญ่ในทะเลฟิลิปปินส์ ซึ่งโดนเรือดำน้ำของจักรวรรดิญี่ปุ่นยิงตอร์ปิโดโจมตีในปี 2488

เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส เล็กซิงตัน มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงในสมรภูมิแปซิฟิกหลังกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นประกาศสงครามและเปิดฉากโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ที่ตั้งศูนย์บัญชาการกองทัพเรือสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก สร้างความเสียหายอย่างหนัก

เป็นจุดที่ทำให้สหรัฐประกาศสงครามและเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

การประจันหน้ากันของเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส เล็กซิงตัน กับเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ยอร์กทาวน์ กับเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำ ของจักรวรรดิญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 4-8 พ.ค. ปีพ.ศ.2485

รู้จักกันต่อมาในนามว่า “ยุทธนาวีที่คอรัลซี” (Battle of the Coral Sea) ถือเป็นการต่อสู้กันระหว่างเรือบรรทุกเครื่องบินครั้งแรกของโลก

การต่อสู้ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการที่กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน เพื่อเสริมแนวป้องกันในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้จากการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยใช้กำลังจากเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ และเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็กอีก 1 ลำ พร้อมกองเรือคุ้มกัน เพื่อสนับสนุนการโจมตีทางอากาศให้หน่วยทหารยกพลขึ้นบก ภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอกชิเงะโยชิ อิโนอูเอะ

แต่ฝ่ายสหรัฐทราบข่าวจากการดักฟังการสื่อสาร และมีคำสั่งให้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ ได้แก่ ยูเอสเอส เล็กซิงตัน และยอร์กทาวน์ ไปเสริมกำลังกองเรือรบร่วมกับกองทัพเรือออสเตรเลียเพื่อขัดขวางการสร้างแนวป้องกันของจักรวรรดิญี่ปุ่น

แม้ฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นจะเข้ายึดครองหมู่เกาะโซโลมอนได้สำเร็จ แต่เสียหายจากการโดนลอบโจมตีจากกองเรือผสมของสหรัฐ-ออสเตรเลีย

ทางฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นจึงมุ่งหน้าเข้าประจันหน้ากับกองเรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรที่ทะเลคอรัล ต่างฝ่ายต่างเสียหายอย่างหนัก

เรือบรรทุกเครื่องบินของแต่ละฝ่ายเสียหายจนใช้การไม่ได้ ทำให้ฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นยอมถอยทัพ

ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเปิดฉากขึ้น

ขณะที่ยูเอสเอส เล็กซิงตันนั้นเสียหายหนัก ทำให้ต้องสละเรือและปล่อยให้จมลงสู่ท้องทะเล มีลูกเรือเสียชีวิตกว่า 200 นาย แต่ส่วนใหญ่ได้รับการช่วยเหลือจากเรือลำอื่น

พลเรือเอกแฮร์รี แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองทัพเรือสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวแสดงความชื่นชมต่อความสำเร็จของคณะสำรวจและแสดงความรำลึกถึงวีรกรรมของทหารผู้สละชีพ รวมทั้งวีรกรรมของ ยูเอสเอส เล็กซิงตัน ฉายาว่า “เลดี้ เล็กซ์”

“ในฐานะบุตรชายของผู้รอดชีวิตจากเรือลำนี้ ผมขอแสดงความยินดีต่อ คุณพอล อัลเล็น และคณะสำรวจ ที่ค้นพบเลดี้ เล็กซ์ หลังเธอจมลงสู่พื้นทะเลเมื่อ 76 ปีก่อนในยุทธนาวีที่คอรัลซี”

ผบ.ทร.สหรัฐยังกล่าวสดุดีความกล้าหาญและความเสียสละของลูกเรือของ เลดี้ เล็กซ์ รวมทั้งทหารอเมริกันทุกนายที่ได้ร่วมต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยการเดินหน้าธำรงเสรีภาพของโลกต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน