“ปฤษณา กองวงค์”

ภาควิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จัดนิทรรศการออกแบบประยุกต์ศิลปนิพนธ์ “Pride Applied Art Thesis Exhibition 2018” นำเสนอผลงานนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย ภาควิชาศิลปกรรม หลักสูตรออกแบบประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำปี 2561 จำนวน 45 คน ที่ลาน โปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ เมื่อไม่นานนี้

ผลงานครีเอตของเหล่านักศึกษาที่นำมาจัดแสดงโดดเด่นดึงดูดผู้ชื่นชอบงานศิลปะและเหล่านักช็อปเข้ามาร่วมชมอย่างมาก

ตัวอย่างเช่น ผลงานของ น.ส.ชไมภรณ์ อุปมัย ที่สร้าง สรรค์ประติมากรรมจากขี้เลื่อย วัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นเป็นเหล่าสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวนที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น กระทิง ละมั่ง เลียงผา กวาง ผสานแนวคิดนักรบแสดงถึงความแข็งแกร่ง เพื่อเป็นกระบอกเสียงของเหล่าสัตว์ป่าที่ต้องต่อสู้ ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตอยู่รอดจากการล่าและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะน้ำมือมนุษย์

ถัดมาเป็นผลงานของ นายพันธพงค์ บัวงาม การแกะสลักลวดลายประยุกต์ด้วยวัสดุกระดูกสัตว์ สะท้อนความรู้สึกว่าโครงกระดูกสัตว์ซึ่งเหลือใช้จากการทำอาหารมักถูกนำมาบดเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ทั้งที่น่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่านี้ จึงนำเอากระดูกควายโดยเฉพาะส่วนสะโพกมาแกะสลักเป็นเรื่องราวต่างๆ สะท้อนคุณค่าและวิถีชีวิตในอดีตระหว่าง “คน” กับ “ควาย” ที่ผูกพันกันมาช้านาน

ด้าน น.ส.ชริษา ศิริสรณ์ มาพร้อมผลิต ภัณฑ์ของใช้ของตกแต่งภายในบ้าน อาทิ กรอบรูป หมอนอิง โคมไฟ โดยนำเอา เทคนิคโครเชต์มาถักอย่างประณีต ออกมาเป็นตุ๊กตารูปสัตว์น่ารักน่ากอด เช่น แมว กระต่าย กวาง และหมี สัตว์แต่ละตัวล้วนมีคาแร็กเตอร์ชัดเจน ช่วยสร้างและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ

ขณะที่สองสาวซึ่งสนใจงานผ้า น.ส.แพรวา พระเทพ ออกแบบลายผ้าโดยได้แรงบันดาลใจมาจากความงามของผ้าทอชาวอาข่า และ น.ส.สิรินภา ปัญญา ที่นำลวดลายซิ่นตีนจกแม่แจ่มมาออกแบบประยุกต์ให้ร่วมสมัยเข้ากับผลิตภัณฑ์และของตกแต่งบ้าน

ร่วมด้วยผลงานของ น.ส.อนงค์นาฎ ดีอินทร์ ออกแบบสร้างสรรค์ประติมากรรมเพื่อแสดงเอกลักษณ์แมวสายพันธุ์ไทยผสมผสานเครื่องแต่งกายร่วมสมัย ถอดเปลี่ยนได้ และผลงานของ นายชัยธวัช พรมจักร ออกแบบโคมไฟเครื่องปั้นดินเผาโดยได้แรงบันดาลใจมาจากความงามของแมงกะพรุนทะเล ผสมผสานเทคนิคการตัดแผ่นอะครีลิกที่แปลกใหม่เพื่อสร้างมูลค่าและยกระดับงานเครื่องปั้นดินเผา

ขณะที่ นายจิรยุทธ คุณโน ผสานความชอบเรื่องราวของรอยสักผ่านเทคนิคการดุนโลหะเพื่ออนุรักษ์งานหัตถศิลป์ โดยบอกเล่าว่า “ในอดีตชาวล้านนาสักลวดลายต่างๆ บนร่างกายตามความเชื่อและศรัทธา ขณะเดียวกันการสักเป็นงานหัตถศิลป์ที่ต้องใช้ฝีมือและความชำนาญ เช่นกันกับงานดุนโลหะ เพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ จึงอยากสื่อความงามของลวดลายสักที่เคยอยู่บนร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบนแขน ขา หรือแผ่นหลัง ผ่านเทคนิคดุนโลหะ”

ส่วน นายจีรวัฒน์ ศิริมงคล เจ้าของโครงการออกแบบสร้างสรรค์เครื่องประดับศิราภรณ์ประยุกต์ เพื่อสืบสานงานศิลป์ไทยดั้งเดิมสู่การออกแบบสมัยใหม่ ใช้เวลาร่วมสองเดือนทำชิ้นงานและนำเสนอออกมา เล่าว่า เพราะอยากให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่ต่อไป และแสดงให้เห็นว่างานประณีตศิลป์เหล่านี้งดงามทรงคุณค่า เราสามารถนำมาต่อยอดและสร้างมูลค่าได้ เครื่องศิราภรณ์แต่ละแบบที่สร้างสรรค์ขึ้นมานี้มีรูปแบบที่ต่างกันตามยุคสมัย เช่น อยุธยาตอนต้น รัตนโกสินทร์ เชียงแสน หรือขอม

“การแสดงงานครั้งนี้สิ่งที่ได้คือคำว่าแชร์ เป็นการประยุกต์ใช้ การพัฒนา โดยไม่ได้แข่งขันกัน แต่ช่วยกันให้ผลงานออกมาดี ความตั้งใจของผมเพียงอยากสืบสาน ผมเองอาจไม่ได้เก่งมาก แต่อยากแชร์ให้ทุกคนเห็นและสืบทอด เพราะไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้สูญหายไป” จีรวัฒน์กล่าว

ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น ผลงานของ นายเจษฎา จักขุเรือง หนุ่มน้อยหัวใจอนุรักษ์ที่สื่อภาพเคลื่อนไหวอินโฟกราฟิก ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา ปัญหาและวิธีแก้ปัญหาคลองแม่ข่าเน่าเสีย รวมไปถึงผลงานเพื่อหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เช่น ผลงานของ นายอนุรักษ์ มูลศรี นำจุดเด่นของแมลงมาออกแบบเป็นตัวการ์ตูนน่ารักสดใส เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กๆ

และนักท่องเที่ยวต่างชาติให้พิพิธ ภัณฑ์สวนสัตว์แมลงสยาม Siam Insect Zoo ผลงานของ น.ส.สุธิดา คดีโลก นำเสนอสุนัข 12 สายพันธุ์ ที่มีนิสัย ความน่ารักแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ เพื่อแฝงความรู้ ข้อคิดเตือนใจแก่ผู้เลี้ยงสุนัข และ เพื่อช่วยเหลือมูลนิธิบ้านสุนัข รวมถึงผลงานของ น.ส.พัชราภรณ์ แก้วรากมุข ที่มาพร้อมบ้านนิทานตุ๊กตามือ นำไปใช้ในสถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ เพื่อกระตุ้นและดึงดูดความสนใจของน้องๆ หนูๆ วัยซน

ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ พลังคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน