เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา คุก6แกนนำพธม.8เดือน ม็อบบุกยึดทำเนียบปี51 ส่งตัวนอนเรือนจำทันที

คุก6แกนนำพธม.8เดือน ม็อบบุกยึดทำเนียบปี51 – จบเสียทีสำหรับคดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551

ที่ต่อสู้ยืดเยื้อยาวนานมาถึง 11 ปี

ในที่สุดศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาให้เป็นที่สุด โดยให้แกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 6 คนจำคุก 8 เดือนไม่รอลงอาญา

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา คุก6แกนนำพธม.8เดือน ม็อบบุกยึดทำเนียบปี51 ส่งตัวนอนเรือนจำทันที : แฟ้มคดี

แกนนำพันธมิตรฯ

โดยถือว่าเป็นความผิดฐานบุกรุกชัดเจน

ถือเป็นการสิ้นสุดคดีการเมืองที่สำคัญคดีหนึ่ง เพราะเหตุดังกล่าวเป็นอีกปมหนึ่งที่นำไปสู่การสร้างภาวะรัฐอ่อนแอ

จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยขาดคุณสมบัตินายกฯ ของนายสมัคร สุนทรเวช ตามด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน ส่งผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สิ้นสภาพนายกฯ

จนเกิดกลุ่มงูเห่า ตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ขณะพันธมิตรฯ ที่ยกระดับจากยึดทำเนียบฯ มาถึงขั้นยึดสนามบิน

ก็ยุติการเคลื่อนไหว ลดระดับการชุมนุมลง

แต่คดีความก็ไม่ได้ลดลงไปด้วย

ฎีกาปิดฉากพธม.ยึดทำเนียบ

วันที่ 13 ก.พ. ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปี นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก โดยกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จากกรณีนำม็อบเสื้อเหลืองบุกยึดทำเนียบรัฐบาล เมื่อปีพ.ศ.2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา คุก6แกนนำพธม.8เดือน ม็อบบุกยึดทำเนียบปี51 ส่งตัวนอนเรือนจำทันที : แฟ้มคดี

บุกยึดทำเนียบ

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกคนละ 3 ปี แต่ลดโทษเหลือคนละ 2 ปี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุกคนละ 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้คนละ 8 เดือน ไม่รอการลงโทษ

จากนั้นจำเลยทั้ง 6 ยื่นฎีกา โดย พล.ต.จำลอง นายพิภพ นายสมเกียรติ นายสมศักดิ์ และนายสุริยะใส ประกันตัวระหว่างฎีกา ส่วนนายสนธิถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรม จากกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 20 ปี ในคดีกระทำผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งศาลเบิกตัวนายสนธิมาฟังคำพิพากษา

ขณะที่คำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า การที่จำเลยทั้งหก อ้างว่าการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และทำเนียบรัฐบาลเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดิน ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ทำเนียบจะเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดิน แต่ก็เป็นทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเฉพาะ ไม่ใช่ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสถานที่ราชการมีอาณาบริเวณชัดเจน มีรั้วรอบ เป็นสถานที่สำหรับบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และหน่วยงานสำคัญของราชการอื่น

การที่จำเลยทั้งหกกับพวกปีนรั้ว ตัดโซ่ ผลักดันแผงกั้นเข้าไปในทำเนียบโดยมิชอบ จึงเป็นความผิดฐานบุกรุก ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ขณะที่การชุมนุมของพวกจำเลยยังมีการจัดกองกำลังรักษากลุ่มผู้ชุมนุม โดยไม่ไยดีต่อผู้มีหน้าที่ดูแลทำเนียบ จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่น

ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบตามที่จำเลยทั้งหกอ้าง

● สู้ 11 ปี-คุก 6 แกนนำ 8 เดือน

ส่วนประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหก ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีทั้งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจสถานที่ทำเนียบ หลังยุติการชุมนุม ได้จัดทำบันทึกการตรวจสถานที่และแผนที่เกิดเหตุ

ปรากฏสภาพความเสียหายตามบัญชีทรัพย์ ทั้งสนามหญ้า ต้นไม้ประดับ ระบบสปริงเกลอร์รดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ ระบบไฟสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรี ถูกเหยียบเททับด้วยดินกรวดทรายเสียหายทั้งหมด

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา คุก6แกนนำพธม.8เดือน ม็อบบุกยึดทำเนียบปี51 ส่งตัวนอนเรือนจำทันที : แฟ้มคดี

แกนนำฟังคำพิพากษา

นอกจากนี้ ระบบโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งไว้ทั่วทำเนียบ รวมทั้งโซ่ และกุญแจล็อกเสียหาย เป็นความเสียหายที่ตรวจพบหลังจากจำเลยทั้งหกกับพวกออกไปจากทำเนียบ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยทั้งหกกับพวกตั้งเวทีปราศรัยในทำเนียบ และบุกรุกเข้าไปครอบครองเป็นเวลานาน โดยไม่มีมาตรการปกป้องทรัพย์สิน เป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย จึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยทั้งหกขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้งหกกับพวกกระทำการอุกอาจ บุกรุกเข้ายึดครองทำเนียบ ก่อความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินมากมายหลายรายการ ซึ่งการกระทำนั้นกระทบต่องานบริหารราชการบ้านเมืองของหลายส่วนราชการ

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา คุก6แกนนำพธม.8เดือน ม็อบบุกยึดทำเนียบปี51 ส่งตัวนอนเรือนจำทันที : แฟ้มคดี

แกนนำฟังคำพิพากษา

หลังเกิดเหตุก็ไม่ได้เยียวยาความเสียหายจากการกระทำของตน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกเพียงคนละ 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ จึงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งหกมากแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน จึงพิพากษายืน

จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงนำตัวพล.ต.จำลอง นายพิภพ นายสมเกียรติ นาย สมศักดิ์ และนายสุริยะใส ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ขณะที่นายสนธิ ถูกนำตัวกลับไปคุมขังเรือนจำกลางคลองเปรม

ปิดฉากคดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล หลังยืดเยื้อมากว่า 11 ปี

● ย้อนอดีตม็อบเหลืองล้มทักษิณ

สำหรับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทาง การเมืองที่รวมตัวกันจากหลายกลุ่ม อาทิ นักวิชาการ ชนชั้นนำในสังคม สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เครือข่ายแพทย์พยาบาล ตั้งแต่ปี 2549 เพื่อต่อต้านและขับไล่รัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) โดยใช้ประเด็นเรื่องการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป การทำบุญในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มาโจมตี

โดยขณะนั้นรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นรัฐบาลสมัยที่ 2 หลังจากการชนะเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2548 แต่การชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่ทวีความเข้มข้นขึ้น ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศในขณะนั้น) ตัดสินใจยุบสภา

แต่ในการจัดการเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย. 2549 พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศบอยคอตเลือกตั้ง ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ต่อมาเมื่อผลเลือกตั้งปรากฏ กระแสความไม่ยอมรับก็ทวีสูงขึ้น นำไปสู่เรื่องร้องศาลรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมีคำพิพากษาว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. 2549 เป็นโมฆะ

ขณะเดียวกันนายถาวร เสนเนียม จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยื่นเอาผิดคณะกรรมการ กกต. จนกระทั่งศาลสั่งพิพากษาจำคุก 3 กกต. เป็นเหตุให้ต้องพ้นตำแหน่งไป เปิดโอกาสให้แต่งตั้งกกต.ใหม่อีก 5 คนเข้ามาทำหน้าที่

พร้อมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ต.ค.2549 ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ เองก็ประกาศเว้นวรรค ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และไม่รับตำแหน่งใดๆ

อย่างไรก็ตามการชุมนุมของกลุ่ม พันธมิตรฯ ก็ยังไม่ยุติ แถมยังทวีความรุนแรงขึ้นอีก จนเป็นเหตุให้พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ก่อเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

หลังรัฐประหารกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุม และลดบทบาทลง

จนกระทั่งเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 พรรคพลังประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นแทนพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบ และมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1

พร้อมจัดตั้งรัฐบาลโดยมีนายสมัครเป็น นายกฯ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2551

เป็นเหตุให้กลุ่มพันธมิตรฯ กลับมาอีกครั้ง โดยนัดชุมนุมเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 ก่อนเคลื่อนมายึดทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 20 มิ.ย. 2551

ครั้งนี้ใช้ประเด็นโจมตีเรื่องเขาพระวิหาร ใช้การชุมนุมดาวกระจายไปตามที่ต่างๆ ทั้งสถานที่ราชการและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือเอ็นบีที

กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติให้นายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะการรับค่าจ้างจากการทำรายการโทรทัศน์ชิมไปบ่นไป

ส่งผลให้สภาผู้แทนราษฎร มีมติเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2551 เลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ รัฐมนตรี และในการแถลงนโยบายต่อสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ยกกำลังปิดล้อมรัฐสภา ตัดน้ำตัดไฟ จน เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตายิงเปิดทางช่วยคนที่อยู่ในรัฐสภาออกมาภายนอก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้ชุมนุม 2 รายถูกระเบิดเสียชีวิต

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา คุก6แกนนำพธม.8เดือน ม็อบบุกยึดทำเนียบปี51 ส่งตัวนอนเรือนจำทันที : แฟ้มคดี

ยึดสนามบิน

จากนั้นนายสมชาย นายกฯ สั่งการให้ใช้พื้นที่ท่าอากาศดอนเมือง เป็นทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกับกลุ่มพันมิตรฯ ที่ยึดครองทำเนียบอยู่ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2551 กลุ่มพันธมิตร เข้ายึดพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และตามด้วยการบุกยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ

จนกระทั่งวันที่ 2 ธ.ค.2551 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ส่งผลให้นายสมชาย พ้นจากตำแหน่ง

กลุ่มพันธมิตร ก็ประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธ.ค.2551 กินเวลายาวนานร่วมครึ่งปี

ขณะที่คดีความอื่นๆ ก็ยังคงมีตามมา ไม่ว่าจะเป็นศาลฎีกาสั่ง 13 แกนนำพันธมิตร ชดเชยค่าเสียหายการปิดสุวรรณภูมิ 522 ล้านบาท

ยังไม่รวมคดีอาญาที่มีติดตัวอีกจำนวนไม่น้อย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน