ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง ธาริต-มติชน-ข่าวสด

ไม่หมิ่นประมาทเทือก คดีฉาว-สร้าง396โรงพัก

คอลัมน์ แฟ้มคดี

 

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง ธาริต-มติชน-ข่าวสด ไม่หมิ่นประมาทเทือก คดีฉาว-สร้าง396โรงพัก – ถึงบทสรุปเรียบร้อยด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สำหรับคดีที่ต่อยอดมาจากกรณีทุจริตก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ที่ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติในสมัยนั้น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ่วงด้วยหนังสือพิมพ์มติชน-ข่าวสด

กล่าวหาว่ากระทำการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ด้วยการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายธาริต

ขณะที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยระบุว่าการให้สัมภาษณ์ของนายธาริต เป็นการแถลงตามอำนาจหน้าที่ ส่วนมติชน-ข่าวสด ที่นำเสนอข่าวเป็นการติชมโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรม

เมื่อถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ย้ำถึงการทำหน้าที่โดยสุจริต

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าทั้งปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

ศาลอุทธรณ์ตัดสิน-เทือกฟ้องหมิ่น

วันที่ 20 ก.พ. ที่ห้องพิจารณา 716 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.1940/2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), บ.มติชน จำกัด, นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการ น.ส.พ.มติชน, บ.ข่าวสด จำกัด และนายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน บรรณาธิการ น.ส.พ.ข่าวสด เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328

กรณีเมื่อวันที่ 27 ก.พ.-5 มี.ค. 2556 นายธาริต จำเลยที่ 1 แถลงข่าวกล่าวหาโจทก์ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีว่า ทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนจำนวน 396 โรงพัก จากรายภาครวมเป็นรายเดียว ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ อันเป็นข้อความเท็จ ทำให้โจทก์เสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง

ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวน ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีภารกิจเกี่ยวกับการป้องกันปราบปราม สืบสวนและสอบสวนคดีความผิดทางอาญา ผู้ที่จะให้ข่าวสารของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ มีเพียงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเท่านั้น เว้นแต่จะมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร

ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงการก่อสร้างที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง มีสาระสำคัญว่าเดิมคณะรัฐมนตรีให้แย้งประมูลจ้างการก่อสร้างเป็นรายภาคแต่โจทก์กลับสั่งยกเลิกการดำเนินการจัดจ้างเป็นรายภาค และอนุมัติให้เป็นการจัดจ้างรวมศูนย์เพียงสัญญาเดียวที่ส่วนกลาง

ต่อมามีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ว่า การดำเนินจัดจ้างน่าจะไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำผิดมติคณะรัฐมนตรี กรมสอบสวนคดีพิเศษพบหลักฐานใหม่

การกระทำของโจทก์นอกจากจะกระทำผิดมติครม. ยังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เนื่องจากการอนุมัติเปลี่ยนโครงการจากรายภาคเป็นรวมศูนย์สัญญาเดียวทำให้เกิดความเสียหาย

การที่นักการเมืองสั่งให้รวมสัญญาเป็นสัญญาเดียวขัดมติครม. เป็นการสั่งการจากฝ่ายการเมือง หากฝ่ายการเมืองไม่ได้สั่งการแล้ว เมื่อมีการเสนอขออนุมัติทำไมฝ่ายการเมืองไม่ทักท้วง

ยัน‘ธาริต’แถลงตามอำนาจ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์เพียงข้อเดียวว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์นำสืบและอุทธรณ์ทำนองว่า จำเลยที่ 1 แถลงข่าวและรีบให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมีจำเลยที่ 1 และที่ 4 อยู่ด้วยว่า โจทก์จงใจฝ่าฝืนมติครม.เกี่ยวกับการประมูลจัดจ้างโครงการก่อสร้างที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง จากการจัดจ้างรายภูมิภาคเป็นจัดจ้างรวมสัญญาเพียงสัญญาเดียว เป็นการกระทำที่เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับการเสนอ ราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2552 มาตรา 11, 12 และ 13

และจำเลยที่ 2 และที่ 4 นำข้อความที่จำเลยที่ 1 แถลงและหรือให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และข่าวสดรายวันที่มีจำเลยที่ 3 และที่ 5 ตามลำดับ เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณาด้วยเจตนาให้ร้ายโจทก์ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจากบุคคลที่สาม

เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก และข้อความที่จะเป็นหมิ่นประมาทที่ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามจะต้องเป็นข้อความที่ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง แล้วผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาจะต้องไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 (1) ถึง (4)

เมื่อนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ เบิกความว่า หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะสืบสวนเกี่ยวกับการสร้างโรงพัก 396 แห่ง คณะสืบสวนทำการสืบสวนไปตามอำนาจหน้าที่ ส่วนการให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์เป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 คณะทำงานเป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆ แก่จำเลยที่ 1 โดยจะสรุปประเด็นข้อเท็จจริงที่สำคัญพร้อมรายละเอียดและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ตรวจสอบพบ และเป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ว่าจะแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์มากน้อยเพียงใด

จากข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งห้าจะเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ มีอำนาจที่จะแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ใดๆ เกี่ยวกับคดีความที่อยู่ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนให้ประชาชนและสื่อมวลชนรับทราบว่าคดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใด ข้อเท็จจริงจากการสืบสวนสอบสวนได้ความว่าอย่างไร มีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นข้อความที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณานั้น เห็นได้ว่าข่าวที่ปรากฏล้วนแต่เป็นการแสดงให้เห็นความเป็นไปของข้อกล่าวหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มาจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

ส่วนรายละเอียดของคดีในสำนวนจะเป็นอย่างไร จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์ล้ำเข้าไปในรายละเอียดของสำนวน อันเป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ที่จะพึงพิจารณาว่าจะให้ข้อเท็จจริงได้เพียงใดที่จะไม่กระทบต่อรูปคดีที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คดี

ยืนยกฟ้อง‘มติชน-ข่าวสด’

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่หวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสืบยืนยันให้เห็นเจตนาที่แท้ของจำเลยที่ 1 ที่แถลงข่าวและหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง ด้วยหวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ดำเนินการใดเพื่อให้ ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ดำเนินการกับจำเลยที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นทางวินัยหรือทางอาญา ฐานเป็นข้าราชการที่ไม่วางตัวเป็น กลางทางการเมือง จึงอาจเป็นความเข้าใจของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 มีเจตนาหวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เป็นไปได้

ดังนั้นการแถลงข่าวและหรือให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่ตนมี หาได้มีเจตนาที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ ดังจะเห็นได้จากถ้อยแถลงของจำเลยที่ 1 ที่ไม่มีข้อความตอนใดที่บ่งชี้ว่า โจทก์ต้องถูกลงโทษในความผิดที่ถูกร้องเรียน

การเสนอข่าวของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็เป็นการสรุปข่าวตามข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 แถลงหรือให้สัมภาษณ์โดยการย่อข่าวให้สั้นกระชับเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย อันเป็นการเสนอข่าวให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีได้รับทราบความคืบหน้าของข้อร้องเรียน ว่ามีการดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด

ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้ว่าเป็นการเสนอข่าวโดยชี้นำให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามข้อร้องเรียนแล้ว

การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ และการเสนอข่าวของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นการกระทำในฐานะสื่อมวลชนที่มีหน้าที่เสนอข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบถึงผลการดำเนินคดี หาได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำไปโดยสุจริตในกรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ตามมาตรา 329 (2) และ (3) จึงไม่มี ความผิดตามฟ้องตามมาตรา 329 วรรคท้าย

เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งห้าไม่มีความผิดตามที่ได้วินิจฉัยข้างต้นแล้ว เหตุผลอื่นๆ ที่โจทก์กล่าวมาในอุทธรณ์จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางหนึ่งทางใดก็ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน