รู้จักกองทะเบียนประวัติฯ

สนับสนุนข้อมูลอาชญากร

อยู่เบื้องหลังพิชิตคดีสำคัญ

คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

รู้จักกองทะเบียนประวัติฯ – การสืบสวนคลี่คลายคดี นอกจากชุดสืบสวนที่ทำงานอยู่เบื้องหน้าแล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่คอยให้ความสนับสนุน คอยทำงานอยู่เบื้องหลัง กองทะเบียนประวัติอาชญากร หรือ ทว. ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่คอยสนับสนุนข้อมูลของคนร้าย ช่วยให้การสืบสวนสามารถรู้ตัวและจับกุมได้รวดเร็ว

วันนี้เรามาทำความรู้จักกองทะเบียนประวัติอาชญากร หรือ ทว.กัน โดยตัวสำนักงานอยู่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปัจจุบันมี พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ เป็นผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร (ผบก.ทว.)

รู้จักกองทะเบียนประวัติฯสนับสนุนข้อมูลอาชญากรอยู่เบื้องหลังพิชิตคดีสำคัญ

ให้บริการประชาชน

 

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการช่วยไขคดีต่างๆ ให้เกิดความกระจ่าง นั่นคืองานของกองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.) ที่คอยขับเคลื่อนหน่วยงานสำคัญแห่งนี้ที่มีอยู่ 8 ฝ่าย 1 กลุ่มงาน

เริ่มจากฝ่ายอำนวยการ ทว.ที่ทำหน้าที่ธุรการ งานประชาสัมพันธ์ ต่อมาเป็นกลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญ และที่หลักๆ เป็นกองกำกับการ 1 มีหน้าที่ประกาศ ตรวจสอบ จัดเก็บ หมายจับ ศพไม่มีชื่อ รถหาย คนหาย บุคคลที่พ้นโทษ แผนประทุษกรรมของคนร้าย กองกำกับการ 2 มีหน้าที่สเกตช์ภาพใบหน้าของคนร้าย ทำสาระบบ ผู้ต้องหา กองกำกับการ 3 มีหน้าที่ตรวจสอบประวัติ คัดแยกผลคดี

รู้จักกองทะเบียนประวัติฯสนับสนุนข้อมูลอาชญากรอยู่เบื้องหลังพิชิตคดีสำคัญ

ตรวจประวัติอาชญากรรม

 

กองกำกับการ 4 มีหน้าที่ตรวจสอบลายนิ้วมือของผู้ต้องหา และศพที่ตายผิดธรรมชาติ กองกำกับการ 5 มีหน้าที่ตรวจสอบประวัติผู้เข้ารับราชการ ผู้สมัครงานไปที่อื่นๆ กองกำกับการ 6 มีหน้าที่จัดทำประวัติผู้กระทำผิดคดีอาญา และกองกำกับการ 7 มีหน้าที่ตรวจสอบและเปรียบเทียบลายพิมพ์นิ้วมือ ด้วยระบบลายพิมพ์ นิ้วมือแบบอัตโนมัติ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีความสำคัญไม่แพ้กัน

รู้จักกองทะเบียนประวัติฯสนับสนุนข้อมูลอาชญากรอยู่เบื้องหลังพิชิตคดีสำคัญ

พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบก.ทว.

 

รู้จักกองทะเบียนประวัติฯสนับสนุนข้อมูลอาชญากรอยู่เบื้องหลังพิชิตคดีสำคัญ

สเกตช์ภาพผู้ต้องสงสัย

 

โดยรวมแล้วกองทะเบียนประวัติอาชญากรรมจะเป็นฐานรวบรวมข้อมูลส่งให้กับทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ ดำเนินการติดตามการจับกุมคนร้ายให้มีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของบอสใหญ่แห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.

พล.ต.ต.ไตรรงค์ได้เปิดเผยว่า ตนโตมาจากสายปฏิบัติงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม งานสืบสวน งานโรงพัก จึงเอาความรู้ ประสบการณ์มาปรับปรุงตรงนี้

การต้องจัดเก็บประวัติพิมพ์ลาย นิ้วมือผู้ต้องหาคดีสำคัญทั้งหมด ถือว่าเป็นฐานข้อมูลใหญ่ของผู้ต้องหาคดีอาญา ต้องจัดเก็บข้อมูลหมายจับ ตำหนิรูปพรรณคนหาย ตำหนิรูปพรรณทรัพย์หาย ศพนิรนาม ซึ่งตนในฐานะเป็นเลขาฯ ของศูนย์คนหายและศพนิรนามด้วย จึงเอาเทคโนโลยีหลายอย่างเข้ามาใช้ มาตรวจสอบ

รู้จักกองทะเบียนประวัติฯสนับสนุนข้อมูลอาชญากรอยู่เบื้องหลังพิชิตคดีสำคัญ

ศูนย์ตรวจสอบประวัติ

 

มีหลายคดีที่เป็นศพนิรนาม แต่เมื่อตนลงไปดูด้วยตัวเองพบว่าเป็นการตายแบบผิดธรรมชาติ จนนำไปสู่การออกหมายจับคนร้ายได้ หรือจะเป็นการเก็บแผนประทุษกรรมของคนร้าย แต่ละคดีเราก็เก็บไว้หมด

ขณะเดียวกันเราต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติ เนื่องจากแต่เดิมการจัดเก็บแผ่นลายพิมพ์นิ้วมือ ผู้ต้องหาใช้แบบกลิ้งหมึกพิมพ์มือ ต้องพัฒนาเป็นระบบไลฟ์สแกน เข้าระบบคอมพิวเตอร์ มีการเชื่อมต่อแม่ข่ายเพื่อสามารถจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ ได้เลย มีการสำรองข้อมูลในการจัดเก็บเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาข้อมูลสูญหาย หรือเว็บไซต์ เมื่อถูกไวรัสไว้

ที่ผ่านมาได้จัดให้มีโครงการ สเกตช์ภาพเตือนภัยขึ้น โดยมีฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 เป็นแม่งาน ไปให้ความรู้กับเด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ หรือตามหน่วยงาน ให้สังเกตความผิดปกติ จดจำบุคคลต้องสงสัย จดจำตําหนิรูปพรรณใบหน้าบุคคลต้องสงสัย 7 ชิ้นส่วน อาทิ โครงหน้า ทรงผม ใบหู ตา คิ้ว จมูก ปาก เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสเกตช์ภาพใบหน้า ไปเป็นแนวทางในการสืบสวนสอบสวน เพื่อหาตัวอาชญากรมาดำเนินคดี

รู้จักกองทะเบียนประวัติฯสนับสนุนข้อมูลอาชญากรอยู่เบื้องหลังพิชิตคดีสำคัญ

อบรมเทคนิคการจดจำบุคคล

 

นอกจากนี้ยังยกระดับงานให้บริการประชาชนเกี่ยวกับศูนย์ตรวจสอบประวัติ ทั้งการตรวจสอบประวัติผู้สมัครงาน การทำใบขับขี่ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ กรณีผู้ที่มีประวัติอาชญากรปัจจุบันได้มีการนำเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งไม่สามารถให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งลบข้อมูลออกจากระบบได้ ส่วนกรณีผู้ที่กระทำความผิดและได้รับข้อยกเว้นทางกฎหมายว่าจะไม่มีประวัติอาชญากรรมติดตัว เช่น ผู้เสพยาเสพติด ผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชน ข้อมูลดังกล่าวจะถูกบันทึกอยู่ในระบบ แต่จะมีการปิดบังการเปิดเผยข้อมูลทางกฎหมาย ทำให้ผู้ที่มาขอ รับรองประวัติจะไม่พบประวัติอาชญากร และถ้ากรณีมี ผู้ที่แอบอ้างว่าสามารถลบข้อมูลออกจากทะเบียนประวัติได้ ไม่เป็นความจริง และขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ

“การจับกุมคนร้ายมาแล้วมันยังไม่ใช่ที่สุด เพราะที่สุดของงานตำรวจคือคุณต้องทำให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย มีหลักฐาน ให้ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ นี้คือ งานของกองทะเบียนประวัติอาชญากร” พล.ต.ต.ไตรรงค์ ทิ้งท้าย

อดิศร จิตตเสวี

เรื่อง/ภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน