คอลัมน์ แฟ้มคดี

นับเป็นคดีทางการเงินที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน โยงถึงแวดวงการเมือง และการศาสนาอย่างคาดไม่ถึง

สำหรับกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีกว่า 13,500 สาขา สินทรัพย์กว่า 2 ล้านล้านบาท สมาชิกกว่า 11 ล้านคนทั่วประเทศ

โดยจุดเริ่มต้นจากการขัดแย้งการบริหารงานภายใน และข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการยักยอกเงินกว่าหมื่นล้านบาท

จนดีเอสไอรับเข้ามาตรวจสอบ

บุกถึงเตียงอาพาธ

ก่อนรวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายจับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัดในข้อหายักยอกทรัพย์ และฉ้อโกงประชาชน

ลามไปถึงวัดพระธรรมกาย เมื่อพบว่ามีการนำเงินของสหกรณ์ส่วนหนึ่งไปบริจาค จนออกหมายจับพระธัมมชโย และส่งกำลังพลปิดล้อมตรวจค้นวัดพระธรรมกายเมื่อปี 2559

ยกพลมหาศาล ประกาศใช้ม.44 แต่ก็ไม่สามารถหาตัวพระ ธัมมชโยได้
นอกจากนี้ยังพัวพันกับเจ้าสัวคนดัง ในคดีฟอกเงิน ซึ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว
ส่วนในคดีฉ้อโกงประชาชน ก็ได้ข้อสรุปในระดับศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง เพราะหลักฐานไม่ชัดเจน

แต่คดียักยอกทรัพย์ถูกตัดสินจำคุก และมีอีกหลายคดีให้ต้องต่อสู้กันจนเหน็ดเหนื่อยแน่นอน
ยกฟ้องฉ้อโกง‘ศุภชัย’2สำนวน

อานันต์ อัศวโภคิน

วันที่ 30 มิ.ย. ที่ห้องพิจารณาคดี 812 ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีดำ อ.1260/2561 ที่น.ส.นวลฉวี เกตุวัฒนเวสน์ กับพวกรวม 410 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อายุ 63 ปี อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

คลองจั่น จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-2 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
โดยคำฟ้องระบุว่า ระหว่างปี 2552-2556 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จำเลย ที่ 1 โดยมีนายศุภชัย จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการ โฆษณาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปทราบว่ากิจการของจำเลยที่ 1 เป็นธนาคาร มีสถานะทางการเงินมั่นคง

ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 เป็นเพียงสถาบันการเงินเพื่อชุมชนเท่านั้น ไม่มีสถานะเป็นธนาคาร การที่จำเลยที่ 1 โฆษณาเผยแพร่ว่าตนเองมีสถานะเป็นธนาคาร มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงและน่าเชื่อถือ สามารถจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์อื่นพึงจ่ายได้

เป็นเหตุให้โจทก์และประชาชนหลงเชื่อ ทำให้จำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินของโจทก์จำนวนทั้งสิ้น 1,115,567,027.51 บาท เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม.และทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 และ 91

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศุภชัยมาศาล

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 410 คนและจำเลยทั้งสองแล้ว สำหรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2526 โดยใช้คำว่า “สหกรณ์” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อที่แสดงออกต่อบุคคลภายนอกมาโดยตลอด

แม้ในช่วงเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 จะใช้คำว่า ‘U BANK’ และข้อความว่า ‘ธนาคารที่คุณเป็นเจ้าของ’

แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายป้ายชื่อและเอกสารต่างๆ ยังปรากฏชื่อ ‘สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด’ รวมอยู่ด้วย

อีกทั้งประชาชนทั่วไปรวมถึงโจทก์ทั้งหมด ก็จะต้องสมัครเข้าอบรมก่อนเข้าเป็นสมาชิก จึงย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการโดยมีสถานะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ การใช้ข้อความดังกล่าวจึงไม่อาจทำให้โจทก์ทั้งหมดหลงเชื่อได้

ส่วนประเด็นที่กล่าวอ้างการปกติ หรือจัดทำงบประมาณการเงินเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงสมาชิก โจทก์ไม่ได้นำพยานยืนยันว่าจัดทำบัญชีงบการเงินเป็นเท็จหรือไม่

หากมีการกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับ ก็เป็นการกระทำผ่านทางคณะกรรมการดำเนินการ จะถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ได้

นอกจากนี้โจทก์ยังไม่ได้นำพยานมาสืบให้เห็นว่าดอกเบี้ยที่ตกลงจะให้เป็นอัตราที่สูงกว่าสถาบันการเงินอื่นเพียงใด และจำเลยที่ 1 จ่ายดอกเบี้ยให้ไม่ได้แน่ๆ และก่อนหน้านี้โจทก์ทั้ง 410 คน ก็เบิกถอนเงินและได้รับดอกเบี้ย เงินปันผลจากจำเลยที่ 1 ตามปกติ เพิ่งมามีเหตุการณ์ที่ทำธุรกรรมเบิกถอนไม่ได้ เมื่อ วันที่ 2 เม.ย. 2556

จึงบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ การไม่สามารถทำธุรกรรมเบิกถอนเงินและจ่ายผลตอบแทนให้แก่สมาชิก จึงไม่ใช่เกิดจากการหลอกลวง
จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด ตามฟ้อง

ชี้หลักฐานยังรับฟังไม่ได้

สำหรับนายศุภชัย จำเลยที่ 2 นั้น โจทก์นำสืบโดยไม่มีรายละเอียดถึงพฤติการณ์ว่ากระทำการหลอก

ลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อโจทก์ทั้ง 410 คนอย่างไร
อีกทั้งในการจัดประชุมใหญ่ประจำปีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่งจัดทำวาระรายงานงบการเงินประจำปี ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้ง 410 คนหรือสมาชิกคนใดคัดค้านหรือโต้แย้ง นอกจากนี้โจทก์

ก็มิได้นำผู้ตรวจการณ์สหกรณ์มาเบิกความยืนยันว่ามีการจัดทำงบการเงินเป็นเท็จจริงหรือไม่

แม้โจทก์ทั้ง 410 คน จะมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน มาเบิกความถึงพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 2 แต่นายไพบูลย์ก็เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองแทนโจทก์ ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด

มิได้รู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำของนายศุภชัย จำเลยที่ 2 มาด้วยตนเองโดยตรง เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าและมาเบิกความตามที่ได้รับฟังมาเท่านั้น

ที่โจทก์ทั้ง 410 คน อ้างคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 2472/2556 ซึ่งวินิจฉัยไว้ว่า นายศุภชัย กับพวก ทุจริตยักยอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด แต่เมื่อนายศุภชัย มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำพิพากษาของศาลปกครองกลางจึงไม่ผูกพันกับนายศุภชัยในคดีนี้

อีกทั้งแม้ในขณะเกิดเหตุนายศุภชัยจะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด แต่ในการบริหารงานและดำเนินกิจการต่างๆ ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 โดยผ่านมติของที่ประชุมใหญ่ ไม่ได้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว

เมื่อโจทก์ทั้ง 410 คน อ้างว่านายศุภชัย จำเลยที่ 2 กระทำความผิด แต่ไม่มีพยานชี้ชัดว่าหลอกลวงโจทก์ทั้ง 410 คนและประชาชนอย่างไร ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า นายศุภชัยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัย พิพากษายกฟ้อง
นอกจากนี้ในคดีหมายเลขดำ อ.235/2562 ที่โจทก์ 292 คน ยื่นฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด กับนายศุภชัย เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบแล้ว โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาแสดงเรื่องการขาดทุน ไม่นำผู้ตรวจบัญชีมาเบิกความถึงข้อบกพร่อง มีคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจซึ่งไม่ใช่สมาชิก ไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่าเป็นเท็จอย่างไร และจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1-2 กระทำทุจริตฉ้อโกง พิพากษายกฟ้อง

ยกฟ้องทั้ง 2 สำนวน

เหลือคดีอีกอื้อ-โดนคุกยักยอก

สำหรับจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เกิดขึ้นจากปัญหาช่วงชิงอำนาจบริหาร เมื่อปี 2556 จนกลายเป็นหนังสือร้องเรียนกล่าวหาว่านายศุภชัย ในฐานะประธานคณะดำเนิน

การ ยักยอกเงินสหกรณ์ไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีการเบิกจ่ายเงินไม่เป็นไปตามข้อบังคับของสหกรณ์

จนกระทั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับไปดำเนินการ โดยรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2556 พร้อมประสานให้ปปง.สั่งยึดและอายัดทรัพย์ของนายศุภชัย และขยายผลการอนุมัติสินเชื่อและสั่งจ่ายเช็ค

878 ฉบับ มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท จนทำให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่อง

นอกจากนี้ยังมีเงินของสหกรณ์ 814 ล้านบาท ที่สั่งจ่ายเป็นเงินบริจาคให้วัดพระธรรมกาย จนตามมา

ด้วยการดำเนินคดีกับพระธัมมชโย และข้อหาสมคบฟอกเงินและรับของโจร โดยพระธัมมชโย ปฏิเสธไม่มาตามหมายเรียกถึง 3 ครั้ง จนดีเอสไอขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญา
จนกระทั่งเดือนมิ.ย. 2559 ดีเอสไอเริ่มปฏิบัติการตรวจค้นวัด พระธรรมกาย แต่เผชิญกับการระดมศิษยานุศิษย์เป็นโล่มนุษย์ขัดขวางการจับกุม จนต้องยุติปฏิบัติการ ต่อมาต้นปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์

จันทร์โอชา นายกฯ ใช้อำนาจม.44 กำหนดพื้นที่วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม เจ้าหน้าที่เข้าตรวจ

สอบ แต่สุดท้ายก็คว้าน้ำเหลว ไม่ได้ตัวพระธัมมชโย

ไม่เพียงแค่นั้นดีเอสไอยังขยายผลไปถึงเจ้าสัวอสังหาริมทรัพย์ กล่าวหาว่าร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ความจริง

ส่วนนายศุภชัย ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาได้พิพากษายืนให้จำคุก 7 ปี ฐานยักยอกเงินสหกรณ์ฯ 22,132,000 บาท เป็นของตนเองโดยทุจริต ไม่รอลงอาญา และยังคงมีคดีอาญาที่ถูกฟ้องซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอีกหลายสำนวน ทั้งความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการทุจริตสหกรณ์คลองจั่นฯ

ต่อสู้กันไปอีกนานทีเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน