เรือยูเอ็นเทียบท่าภูเก็ต เตรียมสำรวจทรัพยากร มลภาวะท้องทะเลไทย

เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2561 – องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ร่วมกับ คณะผู้แทนกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย จัดพิธีต้อนรับเรือหลวง ดร.ฟริทจอฟ นานเซ็น (RV-Dr. Fridtjof Nansen) ซึ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ณ ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต

การมาถึงประเทศไทยในครั้งนี้ของเรือสำรวจทรัพยากรทางทะเลลำเดียวของโลกที่ติดธงสหประชาชาตินับเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของคณะสำรวจทางทะเลระดับโลกและนักวิจัยทางทะเลของประเทศไทย ภายใต้โครงการ EAF-Nansen ซึ่งได้รับความสนุนจากเอฟเอโอ สถาบันวิจัยทางทะเล (Institute of Marine Research) เมืองเบอร์เก้น ประเทศนอร์เวย์ และองค์กรเพื่อความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจากประเทศนอร์เวย์ ( Norwegian Agency for Development Cooperation)

เรือดร. ฟริทจอฟ นานเซ็นได้รับการติดตั้งด้วยอุปกรณ์เครื่องมือสำรวจและวิจัยที่ล้ำสมัยด้านเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์กับการบริหารจัดการประมง พร้อมทั้งศึกษาวิจัยผลกระทบมลภาวะทางทะเลและความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทะเลและมหาสมุทร เรือดร.ฟริทจอฟ นานเซ็นเดินทางสำรวจทรัพยากรธรรมชาติทะเลมาแล้วกว่า 60 ประเทศทั่วโลก

โดยนักวิจัยจากนานาชาติจะร่วมทำการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศวิทยา และสภาพมลภาวะทางทะเลและผลกระทบต่อสัตว์น้ำโดยเฉพาะพลาสติกที่เป็นประเด็นปัญหาทางทะเลที่สำคัญยิ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่และนักวิชาการจากกรมประมงของไทยเป็นระยะเวลาสองสัปดาห์

ผลการศึกษาที่ได้จากความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและความยั่งยืนของระบบนิเวศน์และห่วงโซ่อาหารซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก เรือหลวง ดร.ฟริทจอฟ นานเซ็น มีกำหนดการสำรวจความหลากหลายของน่านน้ำไทยในวันที่ 1-15 ตุลาคม 2561 นับเป็นการสิ้นสุดการสำรวจทางทะเลตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาโดยจากเริ่มจาก สาธารณรัฐอาฟริกาใต้ โมซัมบิค แทนซาเนีย เซเชลส์ มอริเชียส ศรีลังกา บังคลาเทศ เมียนมาร์และสิ้นสุดการสำรวจในประเทศไทย

“โครงการ EAF-Nansen เป็นโครงการที่เอฟเอโอให้ความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมการจัดระบบนิเวศน์และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน” นายจง จิน คิม รองผู้แทนระหว่างประเทศ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าว “การศึกษาวิจัยครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยในฐานะสมาชิกสามารถนำผลการศึกษาที่ได้ไปพัฒนาการจัดการทรัพยากรทางทะเลและสมดุลสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้อย่างดีขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากนักวิจัยนานาชาติ”

อดิศร พรหมเทพ อธิบดีกรมประมงกล่าวว่าการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ EAF-Nansen ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่นักวิจัยจะได้ศึกษาสภาพภูมิอาการและมลภาวะที่มีผลกระทบต่อทรัพยาการทางทะเลและระบบนิเวศวิทยาโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ฝั่งอันดามัน นับเป็นก้าวสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศไทยและเอฟเอโอที่พร้อมจะเดินหน้างานศึกษาการศึกษาพื้นที่ประมงน้ำลึกเพื่อพัฒนาการจัดการประมงของประเทศอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน