สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) นำโดย คุณเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย พร้อมกับคณะ คุณสิริวัน ร่มฉัตรทอง ,คุณอุกฤษณ์ กาญจนเกตุ,คุณโกวิทย์ บุรพธานินทร์,คุณกรชัย แก้วมหาวงศ์, Mr yamada yuichi เข้าร่วมต้อนรับ คณะสภาแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศญี่ปุ่น (JCM/ Japan Council of Metal Workers Union)

ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น สหภาพ Honda, Subaru, Suzuki , Omron, Daido,NEC , Komatsu และอื่นๆ รวม 26 องค์กร ได้เดินทางเข้าเยี่ยมสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เพื่อพบปะ เสวนา และสรุปประเด็นปัญหา ทิศทางของการพัฒนาแรงงาน พร้อมทั้งหารือในด้านการให้ความร่วมมือในโอกาสนี้ด้วย

คุณเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของสภาองค์การนายจ้างให้กับคณะผู้เข้าเยี่ยมได้ทราบ จากนั้นทั้งสองฝ่ายจึงหารือและซักถามปัญหาสำคัญทางด้านแรงงานและอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน ที่ทั้งสองประเทศกำลังเผชิญในการประชุมครั้งนี้อีกด้วย

ตัวแทนจากญี่ปุ่นได้สอบถามถึงสภาพปัญหาแรงงานสัมพันธ์ของไทยและบทบาทของนายจ้างไทยต่อการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยได้อธิบายถึงบทบาทองค์กร ที่ไม่เพียงเน้นประสานความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคลูกจ้างเท่านั้น หากยังรวมถึงกลุ่มอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเข้าใจและยกระดับผู้นำของแต่ละฝ่ายให้ได้เข้าใจถึงขั้นตอนทางกฎหมายอีกด้วย

นอกจากนี้สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยยังส่งเสริมการให้ความร่วมมือกับภาคีทุกฝ่าย ทั้งในบทบาทโดยตรงในการดำเนินการประชุมร่วมกับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างโดยไม่เลือกฝ่าย มุ่งหวังเพียงประสานความร่วมมือและสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย ในฐานะเป็นตัวกลางให้คู่กรณีพบปะร่วมกันแก้ปัญหาเป็นต้น

คณะผู้แทนจากสภาแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้แสดงความสนใจต่อกระบวนการจัดตั้งของสมาคมนายจ้างไทย อาทิ ความหลากหลายของกลุ่มองค์กรของสภานายจ้าง ซึ่งสำหรับประเทศไทย ความมีเอกภาพในความแตกต่างและการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการจัดตั้งถือเป็นเรื่องสำคัญ

หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือและซักถามปัญหาจากหัวหน้าสหภาพหลายแห่ง มีประเด็นปัญหาที่ควรได้รับการใส่ใจ เช่น ท่าทีของสหภาพแรงงานญี่ปุ่นที่มีต่อการเปิดประเทศรับแรงงานต่างด้าวจำนวน 500,000 คน ของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งทางผู้แทนจากญี่ปุ่นได้อธิบายว่า ความจริงเป็นการแก้ไขแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งเมื่อเข้าญี่ปุ่นมาแล้วมักจะอยู่ต่อและทำงานไม่ถูกต้องทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม ในขณะที่สหภาพแรงงานก็พยายามดำเนินการเพื่อช่วยเหลือระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อคิดเห็นต่อคำถามเรื่องผลกระทบต่อคนทำงาน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งตัวแทนจากสหภาพแรงงานญี่ปุ่น ได้ชี้แจงว่าในระดับสถานประกอบการขนาดใหญ่ ไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะมีการจัดสรร แบ่งงานที่รัดกุม สร้างการพึ่งพาอาศัยระหว่างเทคโนโลยีกับการใช้แรงงานคน และที่สำคัญได้มีการฝึกฝนอบรม และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง​

อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานญี่ปุ่นก็ยอมรับว่าสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นองค์ประกอบของธุรกิจอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 80 ได้ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากยุคดิจิทัลโดยตรง

สภาแรงงานเหล็กและโลหะประเทศญี่ปุ่นเป็นองค์การระดับชาติที่สำคัญ ประกอบด้วยสหพันธ์แรงงานโลหะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาถึงห้าแห่ง นอกจากนั้นสภายังเป็นสมาชิกสหพันธ์แรงงานโลหะระหว่างประเทศ (IMF)

ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมปกป้องผลประโยชน์ของพนักงานลูกจ้างเหล็กโลหะของประเทศญี่ปุ่น เป็นองค์การระดับชาติในการเข้าร่วมประชุมทุกฤดูใบไม้ผลิ ในการกำหนดค่าจ้างแห่งชาติ และทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศในการเสริมสร้างความสามัคคีและการทำงานร่วมกัน

เพื่อยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศและของโล​ก​ ในช่วงท้ายของการประชุม ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือประสานงาน ช่วยกันส่งเสริมความเข้าใจและหาวิธีแก้ไขปัญหาแรงงานต่างๆต่อไป


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน