หลายฝ่ายประเมินกันว่าเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ประเด็นเรื่องของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่คงจะร้อนระอุขึ้น เนื่องจากจะมีข้อสรุปจากคณะกรรมการไตรภาคีออกมาเพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจว่าจะสั่งเดินหน้าหรือจะให้ชะลอโครงการนี้ออกไป หลังจากที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้นล่าช้าออกไปกว่าแผนมากกว่า1ปีแล้ว ในขณะที่เอ็นจีโอและตัวแทนชุมชนรอบโรงไฟฟ้ากลุ่มหนึ่งที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ก็นัดหมายเตรียมที่จะเดินทางมาปักหลักพักค้านที่ทำเนียบรัฐบาล เหมือนเมื่อช่วงปี 2558 เพื่อกดดันการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี

ลองมาไล่เลียงประเด็นข้อกังวลที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนรอบโรงไฟฟ้ากระบี่บางกลุ่ม ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวบางราย เอ็นจีโอ และนักวิชาการที่มีแนวความคิดเดียวกัน ลุกขึ้นมาคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาดกำลังการผลิต800 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเห็นว่าหลายเรื่องล้วนเป็นประเด็นที่ กฟผ. ได้ชี้แจงข้อมูล ไปเกือบทั้งหมดแล้ว

ประเด็นที่ชาวบ้านในชุมชนรอบโรงไฟฟ้าบางหมู่บ้าน นั้นมีความกังวลว่า เส้นทางเดินเรือขนส่งถ่านหินนั้น ผ่านจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์ของหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหลายชนิด โดยขนาดของเรือจะทำให้น้ำขุ่นเกินกว่ามาตรฐานจนชะลอการเติบโตของหญ้าทะเล เมื่อไม่มีแหล่งอาหารของปลา ก็จะกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ทำประมงชายฝั่ง รวมทั้งประเด็นการสะสมของโลหะหนักที่จะเกิดขึ้นจากการมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน

image02

ประเด็นนี้ กลุ่มชาวบ้านในชุมชนรอบโรงไฟฟ้ากระบี่ส่วนใหญ่ ที่สนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้ากลับไม่ได้มีข้อกังวลในเรื่องนี้ เพราะมองว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะทำให้มีเม็ดเงินที่จัดสรรลงพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนรอบโรงไฟฟ้าปีละหลายร้อยล้านบาท ในขณะที่จังหวัดกระบี่เอง ในอดีตก็เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์มาก่อนแล้ว เพราะมีการทำเหมืองถ่านหิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาหรือส่งผลกระทบอะไรต่อคนในชุมชน

ในขณะที่ฝั่ง กฟผ. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เส้นทางเดินเรือขนส่งถ่านหินที่ใช้ จะเป็นเส้นทางเดียวกับที่ กฟผ. เดินเรือขนส่งน้ำมันเตามายังโรงไฟฟ้ากระบี่ในปัจจุบัน ในขณะที่ประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจากท่าเทียบเรือและการเดินเรือนั้น ก็มีการศึกษาอยู่ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ทั้งนี้ กฟผ. และ คณะทำงานในคณะกรรมการไตรภาคีที่ตั้งขึ้น ได้มีการลงพื้นที่ไปวัดค่าความขุ่นของน้ำทะเล เมื่อมีเรือขนส่งน้ำมันเตาแล่นผ่าน ร่วมกันมาแล้ว ส่วนการเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) กฟผ. ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญ คือ บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บข้อมูลในพื้นที่ทั้งในรัศมี 5 กิโลเมตร และพื้นที่เกี่ยวเนื่องตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด

สำหรับการประเมินการตกสะสมของโลหะหนักในสิ่งมีชีวิตตลอดอายุดำเนินการโรงไฟฟ้า 30 ปี นั้น จากการศึกษาในพื้นที่โครงการพบการสะสมของโลหะหนักน้อยมาก อย่างไรก็ตาม หากมีการพบการสะสมที่ผิดปกติหรือเกินค่ามาตรฐาน กฟผ. จะรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

ในประเด็นที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ให้เหตุผลว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะทำลายภาพลักษณ์ของการเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นสกปรก ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ฝั่ง กฟผ. ก็เคยชี้แจงไปแล้วว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้นใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่นเดียวกับที่ประเทศพัฒนาแล้วเลือกใช้ ซึ่งในเมืองท่องเที่ยวสำคัญของโลก อย่างปารีส หรือ เบอร์ลิน ของเยอรมนี ก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ในชุมชน และก็ไม่ได้มีประเด็นที่กระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวหรือทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดน้อยลงแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นที่เอ็นจีโอ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากกรีนพีซ ซึ่งมีกิจกรรมการรณรงค์ คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั่วโลกนั้น มองว่ากระแสโลกกำลังมุ่งไปที่ พลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน หลายประเทศมีการปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากระบบ และหันมาลงทุนพลังงานทดแทนอย่างโซลาร์เซลล์และพลังงานลมมากขึ้น แต่ไทยกลับกำลังจะเดินสวนกระแส รวมทั้งนักวิชาการแนวร่วมเดียวกับเอ็นจีโอ มองว่าพลังงานทดแทนอย่างโซลาร์เซลล์มีแนวโน้มต้นทุนที่ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยมีแสงแดดที่ดี จึงควรต้องส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ให้เต็มศักยภาพ ทั้งโซลาร์เซลล์ พลังงานลม และชีวมวล ที่มาจากน้ำเสียและเศษทะลายปาล์ม โดยจังหวัดกระบี่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันอยู่มาก มีศักยภาพที่จะตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลได้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดกระบี่ที่เพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขณะที่นักวิชาการสายเอ็นจีโอบางคน ก็ตั้งคำถามไปถึงกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ว่า เป็นเพราะมีการเข้าไปซื้อกิจการเหมืองถ่านหินรอเอาไว้ก่อนแล้วหรือไม่ การเร่งรัดก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้กลุ่มทุนเหล่านี้ได้ประโยชน์

ต่อประเด็นนี้ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ออกมาชี้แจงว่า ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ และของประเทศ เพื่อที่จะกระจายความเสี่ยงเรื่องของเชื้อเพลิง โดยลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่มีสัดส่วนสูงในปัจจุบัน ซึ่งหากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ไม่เกิดขึ้นตามแผน เราจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีซึ่งมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงกว่าถ่านหินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนต้องมีภาระในการจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

image01

ทั้งนี้ ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ไม่ได้สวนทางกับกระแสของโลก เพราะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ควบคู่ไปกับการลงทุนพลังงานทดแทนซึ่งตามแผนเฉพาะในส่วนของ กฟผ. จะลงทุนโรงไฟฟ้าประเภทนี้ให้ได้ 1,500 – 2,000 เมกะวัตต์ และจะเน้นโรงไฟฟ้าชีวมวลประเภทที่จ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง (Firm) ซึ่งนอกจากจะเป็นโรงไฟฟ้าหลักแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนประเด็นที่นักวิชาการมองว่า จังหวัดกระบี่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน คือ จากน้ำเสียที่ได้จากโรงงานปาล์มน้ำมันและจากเศษทะลายปาล์ม ที่มีมากพอจะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดกระบี่ที่เพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น กฟผ. ชี้แจงว่า การผลิตไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว เป็นสัญญา Non-Firm มีความไม่แน่นอน ผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบได้เฉพาะช่วงที่มีวัตถุดิบเท่านั้น นอกจากนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ไม่เพียงแต่จะสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับจังหวัดกระบี่เท่านั้น แต่ยังสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้จังหวัดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในฝั่งอันดามันอย่างภูเก็ต พังงา ด้วย

ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปควรต้องรู้ คือ ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นๆ อย่างการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลและพลังงานลมในภาคใต้ยังมีศักยภาพต่ำ พึ่งพาได้น้อย เพราะจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เฉพาะช่วงที่มีแดดและลมเท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่มีประสิทธิภาพทำให้กฟผ.ต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงหลัก มาช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง อีกทั้งมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูง ทำให้รัฐต้องอุดหนุนค่าไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมให้โครงการพลังงานทดแทนเกิดขึ้นได้

สำหรับประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องกลุ่มทุนที่ไปลงทุนเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย ล่วงหน้า เพื่อจะได้ประโยชน์จากการขายถ่านหินให้กับโรงไฟฟ้ากระบี่นั้น ผู้บริหารกฟผ.เคยชี้แจงเอาไว้ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะการซื้อถ่านหินเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า มีขั้นตอนในการพิจารณา ที่โปร่งใส แต้องมีการแข่งขันราคากัน ไม่สามารถที่จะล็อคสเปคเพื่อซื้อถ่านหิน จากรายหนึ่งรายใด เอาไว้ล่วงหน้าได้

เดือนตุลาคม นี้ จึงต้องติดตามดูว่าทั้งข้อมูลจากฝั่งที่คัดค้านโครงการกับข้อมูลจาก กฟผ. และเสียงของตัวแทนชุมชนรอบโรงไฟฟ้าที่สนับสนุนโครงการ ที่นำเสนอออกมานั้น นายกรัฐมนตรีจะให้น้ำหนักไปที่ฝ่ายใด ซึ่งเรื่องของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ถือเป็นโครงการที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศ เพราะยิ่งปล่อยเวลาให้ยืดเยื้อออกไปนานเท่าไร ความมั่นคงไฟฟ้าของภาคใต้ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากเท่านั้น

(พื้นที่โฆษณา)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน