จากกรณีสมาชิกเฟซบุ๊ก “Takawit Thibthong” ได้โพสต์คลิปวีดีโอบริเวณทางแยกบนถนนอโศก-ดินแดง ช่วงใต้ทางเชื่อม ARL- MRT เพชรบุรี-มักกะสัน ซึ่งขณะนั้นการจราจรหนาแน่นทำให้มีรถมาจอดค้างบนรางรถไฟ และขณะเดียวกันมีรถไฟวิ่งมาแต่ไม่สามารถขับต่อไปได้เพราะรถขวางทาง จึงต้องจอดรอให้รถพ้นไปก่อน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รวมถึงเรื่องไม้กั้น ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น อ่านข่าว ที่นี่ประเทศไทย รถไฟต้องหยุดรอ ให้รถเล็กไปก่อน หลังจอดคารางปิดที่กั้นไม่ได้

ล่าสุด นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบสถานที่ในคลิปภาพดังกล่าวเป็นจุดเครื่องกั้นถนนเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ มีพนักงานควบคุมเครื่องกั้นถนน บริเวณถนนรัชดาภิเษก (ใกล้กับสถานีรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์มักกะสัน) และขบวนรถโดยสารที่ปรากฏตามภาพเป็นขบวนรถโดยสารที่วิ่งในเส้นทางสายตะวันออกต้นทางจากสถานีกรุงเทพ ขณะที่ทำขบวนมาถึงบริเวณดังกล่าว ขบวนรถจะต้องหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่หยุดรถอโศกที่บริเวณดังกล่าว

เมื่อหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารเรียบร้อยแล้วพนักงานขับรถจะต้องเคลื่อนขบวนรถมาหยุดรอสัญญาณไฟจากระบบเครื่องกั้นถนน เมื่อเครื่องกั้นถนนปิดกั้นถนนเรียบร้อยแล้วพนักงานขับรถจะได้รับสัญญาณไฟจากระบบเครื่องกั้นถนน และจากพนักงานกั้นถนน ขบวนรถจึงจะสามารถข้ามจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ดังกล่าวได้ กรณีในคลิปจึงไม่ได้ถือว่ารถไฟหยุดวิ่งเพราะปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน แต่คิดว่าเจ้าหน้าที่ของ รฟท. ที่ทำหน้าที่คอยเลื่อนที่กั้น น่าจะประสานกับตำรวจจราจรบริเวณนั้น ให้รถสามารถผ่านไปได้ ระหว่างที่รถไฟต้องหยุดรับส่งผู้โดยสารก่อน ทั้งนี้พนักงานกั้นถนนในจุดดังกล่าวต้องใช้ความระมัดระวังและประสานงานกับเจ้าหน้าที่จราจรในบริเวณดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุอันตรายต่างๆ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ปัจจุบัน ปัญหาการจราจรติดขัดส่งผลกระทบในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในหลายจุด อาทิ บริเวณแยกยมราช อโศก ราชวิถี ประดิพัทธ์ เป็นอีกหนึ่งในหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ขบวนรถไฟล่าช้า การรถไฟแห่งประเทศไทย

จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนที่ใช้ยวดยานพาหนะต่างๆ ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด คือ ต้องหยุดรถก่อนข้ามทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร โดยไม่หยุดหรือจอดรถคร่อมทางรถไฟ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 63 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่านไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระวังรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟ หรือสิ่งปิดกั้น ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถ และหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน