มติล่าสุดของบอร์ดทอท. เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับแผนตั้งรับ เพื่อเดินหน้า และวัดใจภาคเอกชนไปในตัว เทียบกับมติก่อนหน้านี้(20 ก.พ.62)

นั่นคือ การแยกสัญญา โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ออกเป็น 2 สัญญา คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา และท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ 1 สัญญา

ส่วนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ยังเป็นให้สัมปทานแบบรายเดียว (Master Concession)

ในคำแถลง คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ระบุความตอนหนึ่งว่า “คณะกรรมการ ทอท. ได้เน้นย้ำว่า การกำหนดแนวทางในการดำเนินงานดังกล่าวเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานของ ทอท. ที่จะต้องคำนึงถึงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน (Sustainable) ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

ข้อเรียกร้อง ที่ต้องการให้มีการให้สัมปทานแบ่งเป็นตามกลุ่มสินค้า หรือ By Category เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการจัดการพื้นที่ภายในสนามบินมีความแตกต่างจากห้างสรรพสินค้าที่มีประตูเข้า-ออกแน่นอน ในขณะที่สนามบินจะต้องจัดทางเข้า-ออก ผ่านประตู “งวงช้าง”กว้าง หรือแคบ เป็นไปตามขนาดรุ่นของเครื่องบิน ซึ่งอาจจะมีประตูอยู่ด้านซ้าย หรือขวา แตกต่างกันไปอีก ดังนั้นการจัดวางสินค้าจึงต้องมีความยืดหยุ่น ภายใต้การดำเนินงานของผู้รับสัมปทานรายเดียว

หากให้มีผู้รับสัมปทานหลายราย ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของจำนวนผู้โดยสารที่เดินผ่านร้านค้า ซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้รับสัมปทาน และรายได้นำส่งทอท. ซึ่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน และยังมีความเสี่ยงจากการที่ ทอท.จะถูกฟ้องร้องจากผู้รับสัมทานด้วย

เป็นคำแถลงของ ทอท. แบบประกาศชน ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ ที่พยายามเคลื่อนไหวผ่าน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เพื่อให้มีการสัมปทานแบ่งเป็นตามกลุ่มสินค้า ทั้งๆที่ ก่อนหน้านี้ทอท.ยืนยันว่า การผูกขาดดิวตี้ฟรีรายเดียว ได้ปิดฉากลงแล้ว จากการเปิดกว้างให้แยกสัญญาเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) เพื่อให้ผู้ประกอบการในเมือง (Downtown) สามารถส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้

ในขณะที่ ยืนยันเรื่อง การให้สัมปทานร้านค้าปลอดอากรแบบรายเดียว (Master Concession) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บอร์ด ทอท. ก็ “ยอม”ปรับเปลี่ยน จากการผูกสนามบินทั้ง 4 แห่งไว้ในสัญญาเดียวเป็นการแยกเป็น 2 สัญญา

แม้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสมาคมค้าผู้ปลีกไทย แต่บอร์ดทอท.ก็กำหนดเงื่อนไขพ่วงมาด้วยว่า ภายใต้ “กรอบแนวทางในการคัดเลือกให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ (Brand Name) สามารถแข่งขันกับธุรกิจเดียวกันในตลาดโลกได้” หมายความว่า ท่าอากาศยานภูมิภาคทั้งสามที่ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ต้องมีสินค้าคุณภาพในระดับเดียวกับ สนามบินระดับโลก อย่าง สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ และสนามบินเช็ค แลป ก๊อก แห่งฮ่องกง และสนามบินสุวรรณภูมิ

จะทำได้หรือไม่ ปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่ปริมาณ และราคา นั่นคือ เจ้าของสัมปทานต้องมีปริมาณการสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมในระดับสูง เพื่อให้ได้เงื่อนไขราคาต่ำพอ ที่จะตั้งราคาขายสู้กับสนามบินระดับโลกได้ เงื่อนไขเข้มขึ้นขนาดนี้ ทำให้พอถึงเวลาจริงอาจจะมีผู้ยื่นประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินภูมิภาคน้อยราย แล้วหันไปทุ่มกำลังชิงดิวตี้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นหลัก ทำลายโอกาสที่ดิวตี้ฟรีไทยทั้งระบบจะได้ยกระดับพร้อมๆกัน

ถึงจุดนั้น จะมีสมาคมการค้าหน้าไหน ออกมารับผิดชอบกันบ้าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน