ชื่นชมรัฐแก้ปัญหา ในเวลาที่อุตสาหกรรมถึงทางตัน!!!

ชื่นชมรัฐแก้ปัญหา ในเวลาที่อุตสาหกรรมถึงทางตัน!!! – ราคาคลื่น 900 MHz ของไทย ถือเป็นราคาสูงสุด จากการประมูลคลื่นย่านนี้ทั่วโลก 39 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 และสูงกว่าราคาเฉลี่ยทั่วโลกถึง 6 เท่าตัว

ผลจากคำแนะนำของนักวิชาการในอดีต ยังส่งผลลบถึงปัจจุบัน ที่กำหนดให้รัฐได้ผลประโยชน์สูงสุด ทั้งที่จริงแล้วควรเป็นประชาชนที่ได้ประโยชน์สูงสุด โดยรัฐไม่ควรกำหนดเลยว่า ใครจะเป็นคนแพ้ ควรต้องใช้กลไกการตลาด และเทรนด์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ รัฐลดราคาเริ่มต้นประมูลให้ต่ำลง เพื่อให้มีการส่งต่อบริการที่ดีในการใช้งาน มากกว่าจะมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากการประมูลให้รัฐ

ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและผู้ใช้งานที่เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว อย่ามองแค่ผลประโยชน์ระยะสั้น วันนี้ต้องรักษาอุตสาหกรรมไว้ คนเราเรียนเก่งมักกลัวเสียค่าโง่ แต่การมองภาพรวม รักษาอุตสาหกรรมให้อยู่รอด ถอย 1 ก้าว รีเซ็ท เพื่อก้าวต่อ 10 ก้าว โดยไม่มีใครเสียประโยชน์ คงไม่ต้องหาว่า ใครจะโง่ เพราะไม่มีใครเสียประโยชน์ แต่เป็นการเยียวยาผู้ประกอบการ ทำให้อยู่รอดได้ ให้บริการได้ต่อไป

“GSMA” สมาคมที่เป็นตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ได้เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับราคาประมูลคลื่นในประเทศกำลังพัฒนาที่มีต่อผู้บริโภค จากการเก็บข้อมูลในช่วงปี ค.ศ. 2010-2017 ซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มข้อมูล

โดยพบว่า ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาประมูลคลื่นที่สูง ทั้งในแง่ที่ต้องจ่ายค่าบริการที่มีราคาสูง การขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมที่ต้องลงทุนสูงทำให้ มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ออกมาถูกที่ ถูกเวลา

เนื่องจากปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สภาพปัญหาจากการแข่งขันทำธุรกิจสำหรับกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ปัญหาด้านความพร้อมทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผลกระทบจากรายได้ของผู้ประกอบการที่สุจริต อันส่งผลถึงความสามารถในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นยังคงอยู่

จึงจำเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียม เพื่อให้การประกอบกิจการดังกล่าวสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5 จี

ทั้งนี้สาระสำคัญของคำสั่ง ม.44 ในส่วนของผู้ประกอบการโทรคมนาคมนั้น ทำให้ เอไอเอส ดีแทค และทรู ที่ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปก่อนหน้านี้ รวมวงเงินประมูลประมาณ 190,000 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จะได้รับความช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์

จากเดิมจ่าย 4 งวดเป็น 10 งวด หรือจากเดิมต้องจ่ายหมดในปี 2562 เป็น เอไอเอส และ ทรู จ่ายงวดสุดท้ายปี 2568 ขณะที่ ดีแทค ซึ่งประมูลหลังสุด จ่ายงวดสุดท้ายปี 2570

เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีเงินทุนมาประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ และขยายโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับการให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และรองรับการให้บริการ 5 จีในอนาคตอันใกล้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน