บิ๊กป้อม สั่งตั้งวอร์รูม-ทำแก้มลิง บูรณาการแก้ท่วมซ้ำซาก ยกระดับชีวิตประชาชน

บิ๊กป้อม / เมื่อวันที่ 12 ก.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562 และการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 มราห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

โดยพล.อ.ประวิตรกล่าวในที่ประชุมว่า ปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ หาแนวทางช่วยเหลือประชาชน โดยการเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่โดยเร็ว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

รวมถึงหาแนวทางการผันน้ำหรือการจูงน้ำไปสำรองไว้ในแหล่งกักเก็บ และลดการระบายน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% โดยขณะนี้แหล่งน้ำขนาดใหญ่มี 10 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดกลางประมาณ 70 แห่ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งหน้า พร้อมสั่งการให้แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น.

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงได้เห็นชอบการวางหลักเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในอนาคต โดยเฉพาะการวางมาตรการรับมือภาวะน้ำแล้งปีหน้า ตามที่ สทนช. ได้เสนอทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (ดำเนินการทันที) ระยะสั้น (1-3 ปี) และระยะยาว (3 ปี ขึ้นไป)

โดยระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย มาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเดิม การพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ/ชะลอน้ำผิวดิน ผันน้ำและจูงน้ำ สร้างฝาย พัฒนาแก้มลิงเก็บน้ำ/เก็บน้ำในแปลงนา) การพัฒนาระบบบาดาล และปฏิบัติการฝนหลวง ส่วนมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ได้แก่ การรณรงค์/ประชาสัมพันธ์ การวางแผนจัดสรรน้ำ/แผนปลูกพืช/ประกอบอาชีพ การจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ รวมทั้งมาตรการทางการเงิน/เยียวยา/ลดต้นทุน

ในส่วนของมาตรการระยะสั้น (1-3 ปี) และระยะยาว (3 ปี ขึ้นไป) จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการรับมือแล้งต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน และการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ส่งเสริมการทำแหล่งน้ำชุมชน โดยเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี การเชื่อมโยงแหล่งน้ำในลักษณะอ่างฯ พวง โครงการผันน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือก เช่น ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ใช้มาตรการทางการเงินในการควบคุมการใช้น้ำ เป็นต้น

รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ร่วมพิจารณาในการวางแผนการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง ปี 62/63 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และให้กระทรวงมหาดไทย โดยการประปาภูมิภาคและประปาท้องถิ่น เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา ตลอดฤดูแล้งปี 62/63

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบโครงสร้างการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและกองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (War Room) เพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหา “วิกฤติน้ำ” และบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการ “มวลน้ำ” ได้อย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 (มาตรา 24 )

ดังนี้ 1.ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองผู้บัญชาการ และเลขาธิการ สทนช.เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุม สั่งการ บัญชาการ และอำนวยการแก้ไขวิกฤติน้ำ โดยบัญชาการร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ในกรณีที่เป็นสาธารณภัยด้านทรัพยากรน้ำหรือวิกฤติน้ำ

2.กองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เลขาธิการ สทนช.เป็นรองประธาน และรองเลขาธิการ สทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่อำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแล และสรุปข้อมูลประกอบการตัดสินใจของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ และบูรณาการบริหารจัดการวิกฤติน้ำและยกระดับสถานการณ์กรณีที่มีแนวโน้มสถานการณ์เข้าขั้นรุนแรงหรือวิกฤติ

นอกจากนี้พลเอกประวิตรย้ำว่า ให้มีตั้งวอร์รูมน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม วางแผนน้ำอย่างเป็นระบบโดยให้ 1.ให้ สทนช ตั้งวอร์รูมบริหารจัดการน้ำ โดยมีพล.อ.ประวิตร เป็นประธานพร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อบริหารจัดการสั่งการให้ทันกับสถานการณ์น้ำในแต่ละสถานการณ์ และห้วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงอุทกภัย หรือภัยแล้งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซาก โดยมีการแก้ไขแก้ปัญหาครบวงจรตั้งแต่น้ำท่วมและมีการวางผานถึงตอนน้ำแล้ง

2.ให้ สทนช ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานปริมาณน้ำทุกเขื่อนในประเทศ ปริมาณน้ำเดิมที่มีอยู่เท่าไหร่ และผันออกไปใช้ สำหรับการเกษตร อุปโภค บริโภค จำนวนเท่าไหร่ ในแต่ละเขื่อน

3.ให้ สทนช มีการกำกับ ติดตาม เฝ้าดู การผันน้ำแต่ละเดือนในแต่ละสถานการณ์ ตามห้วงเวลา เฝ้าดูจุดวิกฤตในแต่ละห้วงเวลา โดยต้องรายงานก่อนเหตุการณ์น้ำท่วม น้ำแล้งทุกครั้ง เตรียมความพร้อมในการผันน้ำให้เพียงพอไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

4.ให้ สทนช ศึกษาในแต่ละพื้นที่ของแต่ละจังหวัดที่เหมาะ.สำหรับน้ำแก้มลิงและขุดบ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในการทำเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี

5.ให้ สทนช จัดตั้ง หน่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเป็น Data Center เพื่อ ประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลข่าวสาร ให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบความเคลื่อนไหวสำหรับภัยธรรมชาติ ทั้ง ภัยแล้ง และน้ำท่วม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์

6.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม ของภาคประชาชน ในการ เฝ้าระวัง อุทกภัย และภัยแล้ง โดยในเรื่องที่สั่งการทั้งหมดนี้ให้ทำทันทีเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่าให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากขึ้นอีกในพื้นที่เดิมๆ

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนช. ยังได้มีมติเห็นชอบกรอบโครงสร้างการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและกองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (War Room) เพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหา “วิกฤติน้ำ” และบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการ “มวลน้ำ” ได้อย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 (มาตรา 24 ) ดังนี้ 1.ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองผู้บัญชาการ และเลขาธิการ สทนช.เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุม สั่งการ บัญชาการ และอำนวยการแก้ไขวิกฤติน้ำ โดยบัญชาการร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ในกรณีที่เป็นสาธารณภัยด้านทรัพยากรน้ำหรือวิกฤติน้ำ

2.กองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เลขาธิการ สทนช.เป็นรองประธาน และรองเลขาธิการ สทนช. เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่อำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแล และสรุปข้อมูลประกอบการตัดสินใจของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ และบูรณาการบริหารจัดการวิกฤติน้ำและยกระดับสถานการณ์กรณีที่มีแนวโน้มสถานการณ์เข้าขั้นรุนแรงหรือวิกฤติ

ในส่วนของที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช) มีมติเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 3 โครงการตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ เพื่อเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไปประกอบด้วย 1.โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2561 ของการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 6 โครงการ วงเงินประมาณ 11,000 ล้านบาท เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตประปาเพิ่มขึ้นอีก 332,400 ลบ.ม./วัน

2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งธนบุรี รองรับปริมาณน้ำหลากนอกแนวป้องกันของ กทม. ให้ระบายออกสู่ทะเล เนื่องจากคลองพระยาราชมนตรี ช่วงบริเวณที่ตัดกับคลองภาษีเจริญมีลักษณะแคบ ทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้ ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี (ปีงบประมาณ 64–68) วงเงิน 6,130 ล้านบาท

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเร่งระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกในพื้นที่เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 64 ตารางกิโลเมตร สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจากนอกแนวป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ให้ระบายน้ำผ่านพื้นที่ กทม.ออกสู่ทะเลในกรณีที่มีปัญหาน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของ กทม.ได้ประมาณ 48 ลบ.ม./วินาที โดยจะระบายลงสู่โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย เพื่อระบายลงสู่ทะเลต่อไป

3.โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง ของกรมชลประทาน โดยการเพิ่มศักยภาพคลองระบายน้ำ D1 จากอัตราการระบายเดิม 70 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 550 ลบ.ม.ต่อวินาที ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2568) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้จังหวัดเพชรบุรีมีโอกาสและศักยภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตสูงขึ้น สามารถสร้างงานอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นแก่ท้องถิ่นและภูมิภาคโดยคาดจะสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จในปี 2563 พร้อมที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนที่กำหนดไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน